มีปรากฏในพระไตรปิฎกเล่มที่ 25  ชื่อนานาติตถิยสูตร
                 สมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่พระเชตวันวิหาร เมืองสาวัตถี พวกเดียรถีย์ (นักบวชนอกศาสนาพุทธ) ต่างลัทธิ สมณะพราหมณ์ และปริพาชก ที่อาศัยอยู่ในเมืองสาวัตถี มีทิฐิ (ทฤษฎี) แตกต่างกัน มีความชอบใจต่างกัน มีความพอใจต่างกัน มีทิฐินิสัยต่างกัน
 
     พวหนึ่งว่า โลกนี้เที่ยง
     พวกหนึ่งว่า โลกไม่เที่ยง
     พวกหนึ่งว่า โลกนี้มีที่สุด
     พวกหนึ่งว่า โลกนี้ไม่มีที่สุด
     พวกหนึ่งว่า ชีวะ (วิญญาณ) กับสรีระร่างกายเป็นอย่างเดียวกัน
     พวกหนึ่งว่า ชีวะกับสรีระต่างกัน
     พวกหนึ่งก็ว่า สัตว์หลังตายยังคงอยู่
     พวกหนึ่งก็ว่า สัตว์หลังตายไม่คงอยู่
     พวกหนึ่งก็ว่า สัตว์หลังตายจะคงอยู่ก็มิใช่ ไม่คงอยู่ก็มิใช่

                 แต่ละพวกก็ยืนยันว่าทฤษฎีของตนเท่านั้นถูกต้อง ของคนอื่นผิดหมด ดูๆ ก็ไม่ต่างกับสังคมไทยสมัยนี้ ถึงแม้ว่าจะไม่เถียงกันในปรัชญาลึกซึ้ง อย่างสมัยพุทธกาล หากเถียงสองประเด็นว่า "ท้ากษิณออกไป" กับ "ท้ากทักษิณสู้ๆ" ก็ก่อให้เกิดความบาดหมางกันของคนในชาติอย่างไม่เคยมีมาก่อน พระพุทธเจ้าตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลายอัญเดียรถีย์และปริพาชกเหล่านั้น เป็นคนมืดบอดไม่มีตา จึงไม่รู้ว่าอะไรคือประโยชน์ อะไรคือมิใช่ประโยชน์ อะไรคือความชอบธรรม อะไรคือความไม่ชอบธรรม เมื่อไม่รู้ก็ทะเลาะวิวาทกันทิ่มแทงกันด้วยหอกคือปาก ยึดมั่นว่า (ความเห็นของกู) เท่านั้นถูกอย่างอื่นผิดหมด ภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้วในอดีตพระราชาพระองค์หนึ่งเรียกราชบุรุษคนหนึ่งให้หาช้างมาให้คนตาบอดแต่กำเนิดเก้าคนดู คนตาบอดทั้งเก้านั้น ต่างก็ใช้มือลูบคลำส่วนต่างๆ ของช้าง แล้วก็กำหนดว่า ช้างเป็นเช่นนี้ๆ เมื่อถูกพระราชาตรัสถามว่า ช้างเหมือนอะไร

     (1) คนที่คลำศีรษะช้างกราบทูลว่า "เหมือนหม้อน้ำ"

     (2) คนที่คลำหูก็กราบทูลว่า "เหมือนกระด้ง"

     (3) คนคลำงาก็ว่า "เหมือนเสาอินทขีล (หลักเมือง)"

     (4) คนที่คลำงวงก็ว่า "เหมือนงอนไถ"

     (5) คนที่คลำร่างกายก็ว่า "เหมือนฉางข้าว"

     (6) คนที่คลำเท้าก็ว่า "เหมือนเสาเรือน"

     (7) คนคลำหลังก็ว่า "เหมือนครกตำข้าว"

     (8) คนคลำหางก็ว่า "เหมือนสาก"

     (9) คนที่คลำปลายหางก็ว่า "เหมือนไม้กวาด"

                 แต่ละคนก็ว่า ตนเท่านั้นถูกต้อง คนอื่นผิดหมด "ช้างมันเป็นเช่นนี้โว้ย ไม่ใช่อย่างที่เอ็งว่า" ว่าแล้วก็ลงไม้ลงมือตลุมบอนกันอุตลุด พระราชาทรงพระสรวลก้ากๆ ด้วยความสำราญพระราชหฤทัยเต็มที่ ในทำนองเดียวกันภิกษุทั้งหลาย พวกอัญเดียรถีย์และปริพาชกที่มืดบอด ไร้จักษุไม่รู้ว่าอะไรคือประโยชน์ อะไรมิใช่ประโยชน์ อะไรคือความชอบธรรม อะไรมิใช่ความชอบธรรม จึงทะเลาะวิวาทกันทุ่มเถียงกัน ทิ่มแทงกันด้วยหอกคือปาก "นี้เท่านั้นโว้ยถูกต้อง อย่างอื่นผิดหมด"
                  พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเล่าอดีตนิทานนี้จบแล้ว ทรงสรุปด้วยพุทธวจนะเป็นคาถาประพันธ์ว่า
 
                                                       อิเมสุ กิร สชฺชนฺติ อเก สมณพฺราหฺมณา
                                                       วิคฺคยฺห นํ วิวทนฺติ ชนา เอกงฺคทสฺสิโน

                                                                 สมณะบางพวกดังกล่าวนี้ 
                                                                 ต่างยึดมั่นทฤษฎีที่ตนเห็น 
                                                                 มองแง่มุมไม่จบครบประเด็น
                                                                 จึงทุ่มเถียงคอเป็นเอ็นไม่ฟังใคร