ชีวประวัติแม่บุญรวย กิจชัยเจริญ

    ดิฉัน บุญรวย กิจชัยเจริญ
ชอบดำเนิน ชีวิต จิตกุศล
เป็นผู้พิพากษา สมทบ พบผู้คน
ช่วยสืบค้น ไกล่เกลี่ย เคลียร์เรื่องราว
    ชอบสังคม สงเคราะห์ เพราะใจรัก
ชอบสมัคร อบรม นุ่งห่มขาว
ชอบสวดธรรม นำรู้ สู่เรื่องราว
ชอบบอกกล่าว แก่มิตร จิตศรัทธา
    ชีวิตย้อน ตอนเยาว์ เป็นสาวรุ่น
วัยหอมกรุ่น หนุ่มกรุง มุ่งมาหา
แผลงศรรัก ปักจิต คิดวิวาห์
เป็นมารดา ลูกสี่ มีสุขพอ
    บั้นปลายของ ชีวิต อุทิศให้
ธรรมวินัย ใจสงบ พบสุขหนอ
เพื่อลูกหลาน สานรัก คอยถักทอ
ชีวิตขอ ส่งเสริม คอยเติมบุญ
    ได้เรียนต่อ เพื่อเติม เพิ่มศักดิ์ศรี
ปริญญาตรี ได้รับ สนับสนุน
ชีวิตพร้อม ทุกเมื่อ คิดเจือจุน
ชีพอบอุ่น บุญรวย ด้วยบุญเรา

คุณอ้อมจิต ชนสุภาพ  ศิลปินผู้ร้อยกรอง

ครอบครัวอบอุ่นด้วยธรรมะ

ประวัติพ่อวิชัย กิจชัยเจริญ

    ชีวิตพ่อ ต่อสู้ สู่วันนี้
นับมากมี ประสบการณ์ ผ่านหลากหลาย
ต้องฝ่าฟัน อุปสรรค ที่มากมาย
ลูกผู้ชาย พลัดพราก จากครอบครัว
    จากถิ่นฐาน บ้านเกิด เตลิดหลบ
ชีวิตพบ เหตุการณ์ ผ่านไปทั่ว
เหมือนโชคช่วย ด้วยบุญ หนุนนำตัว
ได้พันพัว พบผู้ พาสู่ดี
    สร้างฐานะ ด้วยขยัน มิหวั่นไหว
พบคู่ใจ นามบุญรวย ผู้สวยศรี
มีทายาท ชายหญิง ยิ่งเปรมปรีดิ์
ทั้งหมดสี่ คนพร้อม แวดล้อมกาย
    จนมาสู่ วันนี้ ที่ยิ่งใหญ่
นามวิชัย ใฝ่ดี ที่ค้าขาย
ได้เรียนรู้ วิชา มามากมาย
ผลสุดท้าย ได้ดี เหมือนมีบุญ
    ประพฤติชอบ ช่วยเหลือ เพื่อผู้อื่น
คอยหยิบยื่น ไมตรี ที่เกื้อหนุน
จิตสำนึก บั้นปลาย หมายการุญ
อยากสร้างคุณ ความดี มีเมตตา
    เพราะเข้าใจ ในชีวิต อันนิดน้อย
ไม่อยากปล่อย ผ่านไป ไร้คุณค่า
ปรับชีวิต คิดสุข ทุกเวลา
สิ่งใดพา ฉ่ำเย็น เห็นยินดี
    ชีวิตพ่อ วันนี้ มีความสุข
ร่วมสนุก สุขสันต์ กันเต็มที่
ได้ร้องเพลง ร่วมมิตร จิตไมตรี
ชีวิตมี ความชื่น ได้รื่นรมย์

(อ้อมจิต ชนสุภาพ ร้อยกรอง)

คำนำผู้เขียน

ดิฉันบันทึกสมุดเล่มนี้ตอนอายุมากแล้ว อายุได้ 67 ปี (ปี 2553) ความจำย่อมสับสนนึกอะไรได้ก็รีบเขียน อาจจะย้อนไปย้อนมาแต่ก็พยายามทำดีที่สุด เขียนเท่าที่จะนึกได้ และดูจากสมุดบันทึกเก่าๆ บ้าง การเขียนย่อมไม่สละสลวยเช่นนักเขียนอาชีพ ดิฉันเป็นนักเขียนจำเป็น ที่ตั้งใจบันทึกไว้ให้ลูกหลานได้อ่านยามเมื่อดิฉันจากโลกนี้ไปแล้ว เขาจะได้รู้ว่าแม่ หรือย่า หรือยายของพวกเขาทำอะไร และคิดอะไร ในขณะที่มีชีวิตอยู่

                                                                                                                                                                     บุญรวย กิจชัยเจริญ

พุทธคยา

พุทธคยามหาสังฆาราม ตั้งอยู่บนเนินสูงนั้น กล่าวกันว่า เป็นซากของมหาสังฆารามมาในครั้งโบราณ ที่เคยเป็นสำนักที่อยู่อาศัยของพระสงฆ์ถึง ๒,๐๐๐ รูป ตามความที่หลวงจีนเล่าว่า พระสงฆ์เหล่านี้ใฝ่ในการศึกษา มีมารยาทอันงามตามพระวินัย ในวันหนึ่งๆ มีมหาชนทั่วทุกทิศมาชุมนุมเพื่อฟังคำสอน และบริจาคทานกันเป็นจำนวนมาก พุทธศาสนาแบบเถรวาทรุ่งเรืองบนแผ่นดินนี้ ถึงประมาณปี พ.ศ.๗๐๐ ก็อ่อนกำลังลง
พุทธคยาอยู่ในเขตอิทธิพลของคยาเกษตรมาแต่เดิม ในคยาเกษตรมีสถานที่บูชาของพวกฮินดูที่มาถวายบิณฑ์ ๑๖ แห่ง คือ ศิวะคยา พรหมคยา เปรตคยา รามคยา ยุธิษฐิรคยา ภีรมคยา และพุทธคยา เป็นต้น ในคยามหาตมยา เรียกพุทธคยาว่า “โพธคยา” หรือ “ธรรมารัณย์” เมื่อพระพุทธองค์ตรัสรู้ใต้ต้นโพธิ์ ที่นี้คำว่า “โพธคยา” จึงเปลี่ยนเป็น “พุทธคยา”
พุทธคยา เป็นบุญสถานและสถานที่ท่องเที่ยวอันมีชื่อของประเทศอินเดีย แม้ว่าชุมชนจะไม่ใหญ่โต แต่พอถึงฤดูกาลไหว้พระ ระหว่างเดือนตุลาคมถึงมีนาคม จะมีนักแสวงบุญจากทั่วโลกมาที่นี่ โดยเฉพาะชาวทิเบต
ผู้จาริกมากราบไหว้บูชาถึงสถานที่นี้ ได้น้อมระลึกถึงพระบรมศาสดาที่ทรงตรัสรู้ใต้ควงไม้โพธิ์ เมื่อวันเพ็ญเดือน ๖ เมื่อเข้ากราบพระแท่นวัชรอาสน์ สวดมนต์ เจริญจิตภาวนา นั่งสมาธิใต้ต้นโพธิ์ น้อมจิตตามธรรมคำทรงสอน เหมือนได้เข้าเฝ้าพระพุทธองค์ถึงที่ประทับ บุญกิริยาที่ผู้มากราบไหว้ได้กระทำ อันปรากฏผลมหาศาล นอกจากเจริญภาวนา น้อมจิตตามคำพระทรงสอนแล้ว ยังนิยมรดน้ำต้นโพธิ์ ปิดทอง ถวายผ้าอีกด้วย
คำอธิษฐาน
 ชยนฺโต โพธิยา มูเล  สกฺยานํ นนฺทิวฑฺฒโน
 เอวํ ตฺวํ วิชโย โหหิ  ชยสฺสุ ชยมงฺคเล
 อปราชิตปลฺลงฺเก  สีเส ปฐวิโปกฺขเร
 อภิเสเก สพฺพพุทฺธานํ อคฺคปฺปตุโต ปโมทติ.
 ขอให้จงมีชัยชนะในมงคลพิธี เหมือนพระจอมมุนีทรงชนะมารที่โคนโพธิพฤกษ์ ถึงความเป็นผู้เลิศในสรรพพุทธาภิเษก ทรงปราโมทย์ อยู่บนอปราชิตบัลลังก์อันสูง เป็นจอมมหาปฐพี ทรงเพิ่มพูนความยินดี ประสบผลอย่างยิ่งในความเป็นมนุษย์คือ...
๑ขอให้ชีวิตยั่งยืนเหมือนต้นพระศรีมหาโพธิ์
๒ขอให้ครอบครัวร่มเย็นเป็นสุข เหมือนอยู่ใต้ร่มโพธิ์ทองของพระพุทธองค์
๓ขอให้ทรัพย์สมบัติ ดกหนาเหมือนใบโพธิ์ที่มากมายนี้

 ตั้งจิตอธิษฐาน
 เวลาห่มผ้าต้นโพธิ์
๑พันรอบต้นโพธิ์ ผูกให้แน่น เป็นการผูกชีวิตจิตใจลูกหลาน บริวาร ญาติมิตร
๒คลี่ผ้าที่พันให้ตรึง ปัญหาชีวิต หน้าที่การงาน คลี่คลายได้ด้วยพลังบุญนี้
๓รดน้ำต้นโพธิ์ เพื่อความชุ่มเย็น เจริญงอกงาม อิ่มหนำสำราญ ทรัพย์สินไหลนอง

พระแท่นวัชรอาสน์
 วัชรอาสน์ หรือบัลลังก์เพชร เป็นแท่นหินสี่เหลี่ยม สลักเสลาลวดลายศิลปกรรมเป็นแบบฉบับที่ดีเลิศ อันพระเจ้าอโศกมหาราชทรงสร้างขึ้นไว้ ณ รัตนบัลลังก์ ที่พระพุทธองค์ประทับตรัสรู้ ใต้ควงไม้โพธิ์ ขนาดยาว ๗ ฟุต ๖ นิ้ว กว้าง ๔ ฟุต ๑๐ นิ้ว หนา ๑ ฟุตครึ่ง และสูง ๓ ฟุต เป็นแท่นศิลา และเรียกว่า วัชรอาสน์ เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ๑ ใน ๓ ของโพธิมณฑล
ทั้งนั้นก็เพื่อให้น้อมระลึกว่า เมื่อพระองค์ประทับนั่งที่โคนต้นโพธิ์นี้เพื่อตรัสรู้ พระพุทธองค์ทรงตั้งสัตย์อธิษฐานว่า “แม้หนัง เอ็น กระดูก จะเหลืออยู่ โดยเนื้อและเลือดในร่างกายจะเหือดแห้งไปสิ้นตามที ถ้าเราไม่บรรลุถึงประโยชน์ อันบุคคลจะบรรลุได้ด้วยกำลังของบุรุษ ด้วยความบากบั่นของบุรุษแล้ว เราจะไม่ยอมทิ้งความเพียรนั้นเป็นอันขาด”
 ปณิธานนี้ เป็นการแสดงน้ำพระทัยอันหนักแน่นมั่งคงของพระพุทธองค์ราวกับศิลา และในที่สุดพระพุทธองค์ก็ทรงบรรลุถึงจุดหมายคือ ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ
 ปัจจุบัน แท่นวัชรอาสน์นี้ ตั้งอยู่ระหว่างพระเจดีย์พุทธคยา (อยู่ทางทิศตะวันออก) กับต้นศรีมหาโพธิ์ (อยู่ทางทิศตะวันตก) ลักษณะเป็นแท่นสี่เหลี่ยมสลักด้วยหินทราย วางไว้บนฐานที่ฉาบด้วยปูนไว้ บนพื้นผิวแกะสลักเหมือนถักหินเป็นดาวสี่แฉก มีบางท่านมองว่าคล้ายเป็นเพชรที่เจียระไนแล้ว มีซีกประดับอยู่ในเรือนแหวน ด้านข้างทั้งสี่ด้านแกะสลักเป็นศิลปะคล้ายดอกบัวกับพญาหงส์โบราณ และรูปดอกไม้
 ผู้ศรัทธาเมื่อได้กราบแทบแท่นศิลานั้น ความปิติอย่างสูงจักเกิดขึ้นเหมือนกับว่าได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าถึงที่ประทับ และกราบลงตรงอาสน์ที่มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับอยู่ และนำเครื่องสักการะมาตั้งบูชาบนแท่นศักดิ์สิทธิ์ จิตน้อมระลึกว่า ได้ถวายเครื่องสักการะถึงพระหัตถ์ของพระองค์ ณ วัชรอาสน์แล้ว น้อมจิตรำลึกถึงพระมหาปณิธานอันแรงกล้าที่พระบรมพระศาสดาทรงบำเพ็ญ ณ ที่นี้ จนบรรลุถึงความรู้แจ้งเห็นจริงในสรรพสิ่งของโลก

มหาเจดีย์โพธิคยา
เจดีย์มหาโพธิ์ ประดิษฐานอยู่ทางทิศตะวันออกของต้นพระศรีมหาโพธิ์ โดยมีแท่นวัชรอาสน์อยู่ตรงกลาง สูงตามรูปทรงกรวย ประมาณ ๑๗๐ ฟุต วัดรอบฐานได้ประมาณ ๘๕ เมตรเศษ ตั้งอยู่บนอาคารรองรับ ๒ ชั้น มีเจดีย์บริวารทั้ง ๔ ด้าน
รอบบริเวณมีเสาหินทรายที่สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าอโศกล้อมไว้อย่างแข็งแรง มีร่องรอยบูรณะปฏิสังขรณ์กันมาตามยุคสมัย ราวปี พ.ศ.๖๗๔ พระเจ้าหุวิชกะ กษัตริย์แคว้นมคธ ช่วยสร้างเสริมให้เป็นศิลปะต้นแบบ และทำนุบำรุงสืบต่อกันมาหลายยุค โดยเฉพาะสมัยพระสเมธาธิบดี ดำรงหน้าที่เป็นเจ้าอาวาสวัดไทยพุทธคยา ได้นำศรัทธาของพุทธบริษัทชาวไทยบูรณะเสาหินล้อมรอบพระเจดีย์ ห้องปฏิบัติสมาธิชั้นบนของพระเจดีย์ โดยมีพระราชโพธิวิเทศ เจ้าอาวาส (ปัจจุบัน-พระเทพโพธิวิเทศ) เป็นแม่กองงาน และติดไฟฟ้าที่ส่องแสงได้สูงถึงยอด
บริเวณมหาโพธิ์วิหารกลายเป็นที่สำคัญที่สุด เพราะพระพุทธองค์เสด็จมาตรัสรู้ใต้ต้นโพธิ์ที่นี้ ประกอบกับที่นี้เป็นดินแดนศักดิ์สิทธิ์ที่คนโบราณนับถืออยู่แล้ว เท่ากับว่าบริเวณนี้เป็นแผ่นดินศักดิ์สิทธิ์ที่สุดของโลก มหาชนทั้งหลายกล่าวกันว่า ที่ต้นโพธิ์ตรัสรู้แห่งนี้เป็นสะดือของโลก หรือ “ปัถวินาภิมณฑล” เพราะเป็นที่ซึ่งพระพุทธเจ้าทุกพระองค์มาตรัสรู้ที่นี้ทั้งนั้น และไม่มีที่อื่นรับน้ำหนักของการตรัสรู้ได้ “โพธิรุกขะ” คือต้นไม้โพธิ์นี้ย่อมถือว่าเป็นเสมือนขวัญใจของชาวพุทธทั่วโลก
ในศตวรรษที่ ๑๓ สถูปใหญ่ของพุทธศาสนาที่มีชื่อเสียงแผ่ไปไกล หลวงจีนถังซัมจั๋ง เรียกว่า มหาโพธิ์วิหาร และได้บันทึกไว้ว่า “ทางตะวันออกของต้นโพธิ์นั้น มีวิหารสูงประมาณ ๑๖๐ หรือ ๑๗๐ ฟุต กำแพงเบื้องล่างของวิหารด้านนอก ประมาณ ๒๙ หรือกว่านั้น ตัวตึกทำด้วยกระเบื้อง(อิฐ)สีฟ้า ทาทับด้วยปูนขาว ทุกห้องในชั้นต่างๆ บรรจุรูปที่ทำด้วยทองคำมากมาย ตัวตึกทั้ง ๔ ด้าน ประดับประดาด้วยลวดลายอันมหัศจรรย์ รูปไข่มุกที่ร้อยเป็นสายประดับไว้ที่หนึ่ง
ตัวตึกทั้งสิ้นล้อมรอบด้วยทองแดงชุบ ประตูและหน้าต่างตกแต่งด้วยลวดลายอันวิจิตร ประดับด้วยทอง เงิน มุก และรัตนะต่างๆ ด้านขวาซ้ายประตูนอกเป็นซอกคล้ายๆ ห้อง ด้านซ้ายมีรูปพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ ด้านขวาเป็นรูปพระเมตไตรยโพธิสัตว์ รูปเหล่านี้ทำด้วยเงินขาว สูง ๖๐ ฟุต”

ตามรอยพระพุทธองค์
                                                                                                    
บุญรวย  กิจชัยเจริญ
                                                                                                                                                         ผู้เรียบเรียงและเขียน

ท่านผู้รู้กล่าวไว้ว่า ผู้ที่จะมาอินเดียได้ต้องประกอบด้วยสิ่งเหล่านี้คือ
๑ต้องมีศรัทธา คนที่ไม่มีศรัทธา ไม่มีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา จะมาทนลำบากตื่นแต่เช้า ทำภารกิจเสร็จไหว้พระสวดมนต์เหมือนพวกเราไม่ได้ แม้จะมีเงินเป็นมหาเศรษฐีก็มาไม่ได้ ฉะนั้น ศรัทธาจึงต้องมาก่อนใคร
๒ต้องมีปัจจัย (เงิน) เพราะปัจจัยเป็นสิ่งสำคัญ หลายคนมีศรัทธาอยากจะมาอินเดีย แต่ไม่มีปัจจัยก็มาไม่ได้ ฉะนั้น ปัจจัยจึงสำคัญเป็นอันดับสอง
๓ต้องมีสุขภาพแข็งแรง บางคนมีศรัทธา มีปัจจัย แต่ว่าสุขภาพไม่อำนวยเจ็บป่วยออด ๆ แอด ๆ สามวันดีสี่วันไข้ คนประเภทนี้ก็มาอินเดียไม่ได้เช่นกันฉะนั้น สุขภาพจึงสำคัญเป็นอันดับสาม
๔ต้องมีผู้นำ บางคนมีครบทั้งสามอย่างดังกล่าวข้างต้นแล้วแต่ไม่มีผู้นำก็มาไม่ได้เช่นกัน ไม่รู้จะไปกับใคร ติดต่อที่ไหน บางท่านรอเป็นเวลาหลายปีจึงจะได้มา
๕ต้องไม่มีมารมาผจญ มารในที่นี้หมายถึง เทวบุตรมารหรือบุตรหลานคนที่เป็นที่รักของเรา เป็นห่วงเรา เกรงว่าเราจะลำบาก อาจพูดว่า แม่ พ่อ ย่า ยาย อย่าไปเลยอินเดียมันลำบากและสกปรก รวมทั้งขอทานก็มาก ห้องน้ำก็ไม่มีต้องข้างทาง เป็นต้น นี่ก็เรียกว่ามารเช่นกัน

 

ตามรอยบาทพระศาสดา
สังเวชณียสถาน ๔ ตำบล

ดิฉันฝันต้องการไปประเทศอินเดียและเนปาล เพื่อกราบนมัสการสังเวชณียสถาน ๔ แห่ง เพื่อระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า แต่บุญของดิฉันไม่ถึงซักทีต้องมีมีเหตุและอุปสรรคทุกครั้งก่อนวันเดินทาง แต่ครั้งนี้ตั้งใจเด็ดเดี่ยวว่าต้องการไปให้ถึงแดนพุทธภูมิ และแล้วก็สมใจที่ได้ไป ดิฉันปรารถนาว่าไปครั้งเดียวก็เป็นบุญตาบุญใจมหาศาลแล้ว ครั้งเดียวเกินพอแล้ว ดิฉันต้องการแสวงหาที่แปลกๆ ใหม่ๆ เรื่อยไป ต้องพัฒนาจิตและพัฒนากายไปเรื่อยๆ เตรียมจัดกระเป๋าอยู่ ๓-๔ วัน ขนของเข้า ขนของออก มีแต่ของที่อยากเอาไปทั้งนั้น ฟังคนนั้นแนะนำอย่างนั้นอย่างนี้ ทั้งๆ ที่ดิฉันเองก็เคยเดินทางไปหลายประเทศแล้ว แต่พอฟังคนเขาคุยกันก็ทั้งกลัวทั้งกล้า สุดท้ายความต้องการที่จะไปมีมากกว่าความกลัวลำบาก

อุตรดิตถ์ – กรุงเทพฯ
 ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓ เวลา ๐๙.๐๐ น. ออกจากบ้านเข็นกระเป๋าเดินทางไปขึ้นรถยนต์ที่ร้านดอกหญ้า โดยคุณจูเจ้าของร้านดอกหญ้านำรถยนต์เข้ากรุงเทพฯ มีคนขับรถให้ ดิฉันจึงอาศัยเข้ากรุงเทพฯ ไปกับเขา ขอขอบคุณ คุณจู ณ ที่นี้ด้วย สามีเดินไปส่งขึ้นรถสีหน้ามีท่าทีที่เป็นห่วงดิฉันมาก การเดินทางเริ่มขึ้น เราแวะพักทานอาหารกลางวันกันที่ร้านบิ๊กบอส จ.นครสวรรค์ ถึงกรุงเทพฯเวลา ๑๕.๐๐ น. ปุ้มพาไปค้างที่บ้านพี่เฉลียว ไปเที่ยวบ้านคุณธิดา เจ้าของทัวร์ธิซันชายน์ อินเตอร์ทราเวิล กรุ๊ป จำกัด ซึ่งจะพาไปอินเดีย คุณธิดาเข้าครัวทำอาหารเย็นให้รับประทาน อาหารฝีมือคุณธิดาอร่อยมาก ต้องขอขอบคุณอีกครั้ง คุณธิดาเป็นคนที่คุยสนุกสนาน ร่าเริง พร้อมกับเสียงหัวเราะที่สดใส เมื่อทานอาหารอิ่มกันแล้วเราก็พากันกลับไปอาบน้ำและนอนค้าง ที่บ้านพี่เฉลียว ขอบคุณพี่เฉลียวเช่นกันที่กรุณาให้ที่พัก คณะของเรามีด้วยกัน ๖ คน คือ คุณจู(ร้านดอกหญ้า) ปุ้ม แม่ชีจันที น้องหญิง แม่เฉลียว และดิฉัน(บุญรวย)
กรุงเทพฯ – คยา (ประเทศอินเดีย)
 ๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓ วันแรกของการเดินทางมุ่งสู่อินเดีย ตื่นนอนเวลา ๐๑.๐๐ น. อาบน้ำแต่งตัว ทำภารกิจส่วนตัวเสร็จ เตรียมกระเป๋ารอรถที่จะมารับไปสนามบินสุวรรณภูมิ เวลา ๐๒.๐๐ น. ออกรถมุ่งหน้าไปสนามบิน เวลา ๐๓.๐๐ น. พร้อมกันที่ชั้น ๔ ประตู ๑๐W ตรวจพาสปอร์ต เอ๊กซเรย์กระเป๋า ทุกอย่างราบรื่นสะดวกสบาย จากนั้นนำกระเป๋าโหลดลงเครื่อง ทัวร์คณะเรามีทั้งหมด ๓๙ คน พระภิกษุ ๗ รูป สารเณร ๑ รูป แม่ชี ๑ องค์ ผู้ชาย ๘ คน ผู้หญิง ๒๒ คน และอีกกลุ่มซึ่งนำโดย อ.ไพจิตร เจ้าอาวาสวัดฉิ่มกลางบรรพต อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี กลุ่มนี้เขาใส่ชุดขาวกันทุกคน แต่กลุ่มของเราแต่งตัวสบายๆ ขึ้นนั่งประจำที่นั่งบนเครื่องบิน พอถึงเวลาเครื่องจะรันเวย์เหินขึ้นฟ้าเกิดเสียงดังขึ้นใต้ท้องเครื่อง เครื่องบินไม่สามารถจะรันเวย์ได้ เอาล่ะสิ ใจเสียกันเลย กัปตันประกาศให้ทุกคนลงจากเครื่องบินเพื่อตรวจสอบว่าเกิดอะไรขึ้น โชคดีที่ยังไม่ขึ้นไปอยู่กลางอากาศ ทุกคนลงจากเครื่องมานั่งรอในที่ที่เขาจัดไว้ให้ ทราบที่หลังว่าระบบไฮดรอลิกไม่ทำงานต้องจอดซ่อมและเปลี่ยนไฮโดรลิกทั้งชุด (สายการบินของแอร์อินเดีย แอร์ไลน์ IC ๗๓๐)
 เวลา ๐๘.๓๐น. เวลาประเทศไทย เครื่องออกจากสนามบินสุวรรณภูมิไปอินเดีย เครื่องบินปกติ มีตกหลุมอากาศบ้างเล็กน้อย ดิฉันนั่งติดกับแม่ชีจันที คุณแม่ขอนั่งติดหน้าต่างเพราะท่านอยากเห็นวิวทิวทัศน์ อยากเห็นก้อนเมฆ ดูแม่ชีจันทีมีความสุขและตื่นเต้นมาก เนื่องจากเป็นการนั่งเครื่องบินเป็นครั้งแรกในชีวิต แม่ชีจันทีไม่ยอมละสายตาจากหน้าต่างเลย ถึงสนามบินนานาชาติคยา เวลา ๑๑.๓๐ น. ช้าไป ๒ ชั่วโมง ใช้เวลาบิน ๓ ชั่วโมง  ผ่านพิธีการตรวจคนเข้าเมือง ตรวจพาสปอร์ต ไชโย...รอดตายแล้ว จากนั้นพากันขึ้นรถไปวัดไทยมคธ ถึงวัดเวลา ๑๓.๐๐ น. เวลาของอินเดียช้ากว่าเวลาของไทยชั่วโมงครึ่ง เวลา ๑๔.๒๐ น.เวลาอินเดีย ทานอาหารกลางวันที่วัดไทยมคธ อิ่มแล้วทางทัวร์ให้คณะเราพักผ่อนเก็บข้าวของเสร็จแล้วพาไปขึ้นรถ
เพื่อไปชมวัดนานาชาติ คนขับรถอินเดียท่าทางเคร่งขรึม ไกด์นำทางท่าทางใจดีชื่อ
อาลาดิน คอยดูแลและนำทาง และมีเด็กหนุ่มอีกคนคอยดูแลเวลาขึ้นลงรถ ไกด์นำพวกเราไปชมวัดไทยเนรัญชลาวาส ดูแม่น้ำเนรัญชลาที่แห้งแล้งเหมือนทะเลทราย แม่น้ำเนรัญชลานี้พระพุทธเจ้าได้ลอยถาดทองคำ และอธิษฐานให้ถาดลอยทวนน้ำถ้าพระองค์สำเร็จอนุตรสัมโพธิญาณ จากนั้นชมหมู่บ้านนางสุชาดา ซึ่งปัจจุบันเป็นมูลดินสูงๆ แล้วล้อมด้วยอิฐสูงๆ เพราะมีคนมาขุดค้นหาสมบัติตลอดเวลาทำให้เสียหายมาก วิทยากรที่มาบรรยายให้ความรู้เป็นภิกษุ วันแรกชื่อ อ.เทียม และ อ.ไพจิตร สลับกันพูดตลอดเวลาการเดินทาง ดูสถานที่นางสุชาดาถวายข้าวมธุปายาสใต้ต้นรัง และสถานที่นายโสติถิยะพราหมณ์ถวายหญ้าคา ๗ กำแก่พระพุทธเจ้า ชมกันมาจนพอสมควรแก่เวลาแล้วก็ไปที่พุทธคยาเพื่อกราบนมัสการองค์เจดีย์พุทธคยา สถานที่ตรัสรู้และต้นพระศรีมหาโพธิ์ ซึ่งเป็นต้นที่ ๔ กราบนมัสการพระแท่นวัชรอาสน์ ที่ประทับนั่งตรัสรู้ในคืนวันเพ็ญเดือน ๖ นมัสการสัตตมหาสถาน คือ สถานที่เสวยวิมุตติสุข ๗ แห่ง ในบริเวณพระเจดีย์พุทธคยา กราบนมัสการหลวงพ่อพุทธเมตตาที่สวยงามด้วยพุทธลักษณะและศักดิ์สิทธิ์ที่สุดภายในองค์พระเจดีย์พุทธคยา คณะของเราเดินเวียนทักษิณาวัตร ๓ รอบต้นโพธิ์ และนั่งสมาธิถวายเป็นกุศลเพื่อระลึกถึงองค์ศาสดา ผู้คนมากมายแน่นขนัดไปด้วยชาวพุทธทั้งไทย ศรีลังกา พม่า ลาว อินเดีย ทิเบต เดินเบียดกัน และทำพิธีเป็นกลุ่มๆ คนเดินผ่านไปผ่านมาจะหยุดดูคณะเราและพากันถ่ายรูป ไปตรงไหนเจอแต่ขอทาน มากเหลือเกิน มากจนบริจาคทานไม่ไหว พระอาจารย์ไพจิตรบอกว่าอย่าให้ เพราะถ้าให้พวกเขาจะพากันมารุมตัวเราจนออกไม่ได้ อย่าสบตาขอทาน ต้องขันติ ต้องอุเบกขา อย่าใจอ่อนให้สิ่งของ มิฉะนั้นจะเหมือนฝูงแร้งรุ่มเหยื่อ บ้านของชาวอินเดียทำด้วยดินแล้วมุงหลังคาด้วยหญ้าที่หาได้ บางบ้านก็ใช้วัสดุเหลือใช้มุงไว้มองดูเหมือนเล้าเป็ดเล้าไก่ บนหลังคามีต้นฟักแฟง ฟักทองเลื้อยออกลูกเต็มหลังคา ชาวอินเดียเล่าว่า ที่อินเดียอากาศหน้าร้อนจะร้อนมาก ต้นฟักเขียว ฟักทอง แตงกวาที่เลื่อยบนหลังคาจะช่วยป้องกันความร้อนได้  คนจนก็จนมาก ส่วนคนรวยก็รวยมากเช่นกัน ที่นี่ขี้วัวมีประโยชน์มาก ทำปุ๋ยได้ ทำเชื้อเพลิงได้ โดยการนำมาคลุกกับเศษหญ้าหรือฟางผสมกันพอสมควร ปั้นเป็นแผ่นๆ ตากแห้งใช้ทำเชื้อเพลิงหุงอาหารต้มน้ำ ใบไม้ หญ้าแห้ง ชาวอินเดียเก็บกวาดไปทำเชื้อเพลิงหมดไม่มีหล่นให้เห็น ที่หน้าพุทธคยามีของขายมากมาย ราคาถูกแต่คุณภาพไม่ดี มีทั้งสร้อย
กำไล แหวน ผ้าคลุมไหล่ เสื้อผ้า ฯลฯ หลังจากที่พวกเราสวดมนต์ทำวัตรเย็น นั่งสมาธิ ๑ ชม. ในพุทธคยา แผ่เมตตาให้สรรพสัตว์แล้ว พวกเราก็พากันเดินออกมาขึ้นรถโดยต้องจับกลุ่มกันไว้เพราะขอทานมากเหลือเกิน พร้อมกับท่องคาถาว่า ขันติ ขันติ ขึ้นรถกลับมานอนค้างที่วัดไทยมคธ วัดนี้สะอาด สวยงามไปด้วยดอกไม้ดอกโตๆ ห้องนอนมี ๓ เตียง มีมุ้ง ๓ หลัง ผ้าห่ม หมอนพร้อม แต่เตียงของดิฉันไม่มีเสา จึงไม่สามารถกางมุ้งได้ นอนทะเลาะกับยุงแทบทั้งคืน ขยับตัวทีเตียงก็ดังทีนอนไม่หลับเลย ไหนจะต้องปัดยุงที่บินตอมหูอีก นอนฟังเสียงแม่ชีจันทีกับแม่เฉลียวจับมาเป็นอารมณ์สมาธิ หลับๆ ตื่นๆ ตลอดคืน ดีที่อากาศค่อนข้างเย็นสบาย เวลานอนต้องห่มผ้า ถ้ำดงคศิริ – พุทธคยา
 ๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓ วันที่สองของการแสวงบุญ เวลา ๐๔.๐๐ น. ตื่นนอนทำธุรกิจส่วนตัว หัวหน้าทัวร์ให้ตื่น ๐๖.๐๐ น. รับประทานอาหารเวลา ๐๗.๐๐ น. ที่วัดนี้เขาปลูกผักเอง ทั้งสด หวาน กรอบ เมื่อทุกคนรับประทานอาหารเช้าเรียบร้อยแล้ว ก็ขึ้นรถในเวลา ๐๘.๐๐ น. เพื่อไปเขาดงคสิริ ที่พระศาสดาบำเพ็ญเพียรทุกรกิริยาก่อนที่พระองค์จะตรัสรู้ ทิวเขาดงคสิริทอดยาวมองเห็นแต่ไกล ห่างจากเจดีย์พุทธคยาประมาณ ๗ กม. เมื่อผ่านหมู่บ้านเล็กๆ ไปแล้วจะมองเห็นหน้าผาสูงชัน เมื่อขึ้นไปจะมีวัดลามะทิเบตสายมหายานอยู่ เดินขึ้นไปจะเป็นโพรงตื้น ยาวประมาณ 4 ม.เศษ กว้าง 3 ม. สูงประมาณ 3 ม. ภายในมีรูปปั้นพระศาสดาปางบำเพ็ญทุกรกิริยาไว้ในถ้ำ 1 องค์ ทิวเขาดงคศิริเป็นสถานที่พระพุทธเจ้าพำนักระหว่างบำเพ็ญทุกรกิริยา แบบทรมานพระองค์อย่างแสนสาหัส ทรงอดอาหารจนพระสรีระซูบซีดเศร้าหมอง เหลือแต่หนังหุ้มกระดูก บำเพ็ญทุกรกิริยาเป็นเวลา ๖ ปี จึงรู้ว่าเดินทางผิด ไม่อาจนำไปสู่ทางรู้แจ้งได้ มีเทวดาเตือนสติพระองค์โดยการมาดีดพิณให้ฟัง ทั้งพิณสายตึง สายหย่อน และสายปานกลาง สายพิณตึงนักดีดก็ขาด สายพิณหย่อนดีดแล้วไม่เพราะ สายปานกลางพอดีนั้นเสียงไพเราะมาก มัชฌิมาปฏิปทาเป็นหนทางโพธิฌานโดยแท้ พระองค์จึงหันมาเสวยอาหาร ทำให้ปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ที่เฝ้าอุปัฏฐากพระบรมศาสดาเข้าใจว่าพระองค์สิ้นหนทางตรัสรู้ และมักมากในการกินอยู่ ก็สิ้นศรัทธาเลื่อมใส พากันละทิ้งศาสดา เดินทางไปป่าอิสิปตนมฤคทายวัน พระองค์อยู่ตามลำพังอันสงัด ไม่มีผู้ใดรบกวน ในที่สุดพระองค์ได้บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ ภายใต้ต้นศรีมหาโพธิ์ เวลา ๐๗.๐๐ น. รับประทานอาหารเช้าแล้ว มีรถตาต้าซูโม ลักษณะเหมือนรถ CRV แต่เป็นยี่ห้อทาทา ของอินเดียมาจอดรอรับขึ้นเขาดงคศิริ จำนวน 8 คัน เพราะรถใหญ่วิ่งเข้าหมู่บ้านไม่ได้ เนื่องจากถนนเล็กมาก ผ่านบ้านผู้คนส่วนใหญ่ยากจนมาก บ้านสร้างด้วยดินเหนียว หลังคามุงด้วยหญ้า ขี้วัว ขี้ควายแผ่นกลมๆ แปะตามข้างฝาบ้านด้านนอก เพื่อตากให้แห้งทำเชื้อเพลิงขายบ้าง ไว้ใช้เองบ้าง ถนนแคบมากแต่คนขับเก่ง ช่องทางเล็กขนาดไหนเขาก็ขับผ่านได้ เสียงบีบแตรดังสนั่น พระเจ้าไม่โหดร้ายกับพวกเรานัก ขุดดินลงไป 2-3 เมตร เจอน้ำอันใสบริสุทธิ์ พืชผักข้างทางเขียวสดงดงามมาก เพราะปุ๋ยธรรมชาติมีเยอะ ทางไปเขาดงคศิริไม่ดี เป็นทางลูกรังบ้าง หินบ้าง แต่ก็สร้างความสนุกสนานให้พวกเรา เด็กๆ อินเดียมอมแมมและสกปรก มีวัว ควาย และแพะ ถูกมัดไว้สองข้างทาง บางบ้านมัดไว้หน้าบ้านแล้วยังถ่ายมูลไว้อีกต่างหาก ดูแล้วสกปรกแต่พวกเขาก็อยู่กันได้ คนอินเดียเกิดมาก ตายมาก เพราะสุขอนามัยไม่ดี ในที่สุดก็ถึงทางขึ้นเขาซึ่งคราวนี้พวกเราจะต้องลงเดินเท่านั้น เพราะรถยนต์ขึ้นไม่ได้ ทางเดินเทปูนเรียบ สะอาด เมื่อขอทานเห็นรถคณะเราจอดก็วิ่งกรูกันเข้ามาเหมือนฝูงแร้งเห็นเหยื่ออันโอชะ ...คนไทยชอบแจก แขกชอบขอ... ต้องขันติเท่านั้น ไม่สบตา ไม่พูด ไม่สนใจ ทำเป็นหลวงพ่อเฉย ขอทานก็เลยกลายเป็นหลวงพ่อตื้อ ตื้อตลอดเวลา ทางเดินก็ลาดชัน บางช่วงเดินลำบากต้องระวัง กองทัพขอทานก็เดินตามพวกเรา อย่างไม่ลดละ เกือบร้อยคน ซึ่งเราก็ต้องมีขันติอย่างสูง เข้าไปนมัสการถ้ำดงคสิริที่พระองค์บำเพ็ญเพียร รอบเชิงเขามีก้อนหินน้อยใหญ่มากมาย บางที่แห้งแล้ง บางที่ต้นไม้ขึ้นเขียว คณะของเรานำโดย อ.ไพจิตร เป็นผู้นำสวดมนต์แผ่เมตตาและนั่งสมาธิ 1 ชม. ปิดทอง ถ่ายรูปในมุมต่างๆ เมื่อสมควรแก่เวลาแล้วก็ต้องกลับลงเขา มีกองทัพขอทานเดินตามเป็นองครักษ์เช่นเดิม ชมบ้านชมท้องทุ่งมาเรื่อยๆ ขอทานวิ่งตามรถสุดชีวิต หวังจะได้เศษเงินเล็กๆ น้อยๆ พอขึ้นรถบางคนก็โยนเงินให้ บางคนก็แอบให้ เพราะได้บ้างไม่ได้บ้างก็เกิดการทะเลาะ ชกต่อยกันเอง ดิฉันกลัวรถจะชนเขาจัง นี่แหละความจน ไม่ยอมทำหมันเพราะเกรงกลัวต่อบาป เชื่อว่าเมื่อพระเจ้าให้มาเกิดต้องปล่อยให้เกิด พวกเขาแต่งงานตั้งแต่อายุ ๑๐ ขวบ บางคนอายุ ๖-๗ ขวบ พ่อแม่ก็จับแต่งงานกันแล้ว พวกเราเดินทางกลับถึงวัดไทยมคธ พักรับประทานอาหารกลางวัน พักผ่อนเล็กน้อย จากนั้นก็เดินทางไปยังวัดทิเบตอีก ๒ วัด เป็นวัดของชาวทิเบตลัทธิมหายาน ทิเบตย้ายถิ่นฐานมาอยู่ในอินเดียเมื่อ ๕๐ ปีก่อน มีองค์ทะไลลามะเป็นผู้ปกครองทางจิตวิญญาณ วัดสวย พระพุทธรูปก็งดงาม สวดมนต์ ไหว้พระ แผ่เมตตา มีพระทิเบต 1 องค์นั่งสวดมนต์อยู่ พวกเรามากันจำนวนมากเสียงจึงดังกว่า พระทิเบตสวดมนต์พร้อมกับตีกลอง และหมุนอะไรสักอย่างไปด้วย ทัวร์ได้พาคณะเราย้อนกลับไปที่พุทธคยา ไปไหว้พระพุทธเมตตา สวดมนต์ นั่งสมาธิ แผ่เมตตา และชมสถานที่หลังจากพระพุทธเจ้าตรัสรู้อนุตรสัมโพธิญาณแล้วมาเสวยวิมุตติสุขอยู่ ๗ แห่งๆ ละ ๗ วัน เรียกว่าสัตตมหาสถาน รวมเป็นเวลา ๔๙ วัน เพื่อตรวจสอบ ทดลอง พระโพธิญาณที่ได้ตรัสรู้นั้นให้แน่พระทัย สถานที่ต่างๆ นั้นได้แก่ โพธิบัลลังก์ อนิมิสเจดีย์ รัตนจงกรมเจดีย์ รัตนฆรเจดีย์ ต้นอชปาลนิโครช ต้นมุจลินทร์ และต้นราชายตนะ เสร็จแล้วกลับวัดไทยมคธ ขอทานยังคงตามตื้อและเรียกพวกเราว่ามหาราชา มหารานี บ้างก็เรียกอาจารย์ ขณะที่กำลังรับประทานอาหารเย็น ไฟฟ้าดับ ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ บางวัดจึงต้องมีเครื่องปั่นไฟไว้ เมื่อทานอาหารเย็นเสร็จแล้วก็ไปทอดผ้าป่า ไม่มีใครนำถวายผ้าป่าดิฉันจึงรับหน้าที่ตลอดรายการทัวร์อินเดียเพื่อแสวงบุญ เข้านอนคืนนี้ไม่ต้องทะเลาะกับยุงอีกแล้ว เพราะมีคนมาช่วยกางมุ้งให้ ขอบคุณเหลือเกิน อากาศตอนกลางคืนเย็นสบายทุกวัน นอนหลับสนิท ขอขอบคุณน้องต้อม น้องปุ้ม คุณจู ที่ช่วยกางมุ้งให้
ความงามที่แตกต่างของสายน้ำคงคา
หลวงวิจิตรวาทการ กล่าวไว้ในหนังสือของดีเมือง อินเดียว่า ใครมาเยือนอินเดีย แล้วไม่ได้แวะ “พาราณสี” ถือว่ายังมาไม่ถึงอินเดีย!! เพราะเมืองหลวงของแคว้นกาสีในสมัยพุทธกาลแห่งนี้ ยังคงรักษาเอกลักษณ์ ความเป็นอินเดียดั้งเดิมไว้ได้ทุกกระเบียดนิ้ว เรียกว่าถ้าอยากรู้จักโฉมหน้าแท้จริงของแดนภารตะ ต้องมาชมกันที่พาราณสี จะได้อรรถรสครบถ้วน ทั้งด้านความงดงามน่าจดจำ และมุมมืดที่สงวนไว้เป็นความลับสุดยอด!!
“พาราณสี” ได้รับการขนานนามให้เป็น เมืองศักดิ์สิทธิ์ของอินเดีย หรือ Holy City โด่งดังในเรื่องความเคร่งครัดศาสนา ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของ แม่น้ำคงคา และทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเมืองคยา ท้องถนนในเมืองไม่เคยหลับใหล พลุกพล่านไปด้วยรถรานานา ชนิด แถมยังเบียดเสียดยัดเยียดไปด้วยผู้คนหนาแน่นทุกตารางนิ้ว โดย มีประชากรอาศัยอยู่มากกว่าเมืองไทยถึง 2-3 เท่าตัว แต่เชื่อหรือไม่คะว่า เจ้าถนนตัวจริงกลับเป็นบรรดาสัตว์ ท้องถิ่น ที่เดินเพ่นพ่านเข้าตรอกโน้นออกซอยนี้แบบไม่เกรงกลัวใคร ทั้งโค, กระบือ, แพะ, แกะ โดยเฉพาะ “โคหรือวัว” จะมีหนาตาเป็นพิเศษ และยังมีอภิสิทธิ์เหนือคนอย่างเหลือเชื่อ ไม่ว่าจะเดินไปทางไหน จึงไม่มีใครกล้าแหยมเข้าไปทำร้าย เพราะชาวอินเดียมีความเชื่อฝังใจว่า “วัว” เป็นพาหนะของท้าวมหาเทพ ถือเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ ถ้าเกิดเหตุรถชน “วัว” จะมีความผิดร้ายแรง กว่าขับรถชน “คน”!!
และเพราะเมืองนี้เป็นนครแห่งแสงสว่าง ตามความ เชื่อว่าที่นี่เป็นเมืองแรก ที่แสงสว่างสาดส่องเข้ามา หลังจาก ที่พระเจ้าสร้างโลก แต่ละปีจึงมีชาวอินเดียและผู้นับถือศรัทธาจากทั่วโลก หลั่งไหลเข้ามาหลายล้านคน เพื่อสักการะ แม่น้ำคงคา โปรยเถ้าถ่าน และสวดมนต์ให้ผู้จากไป สำหรับ พุทธศาสนิกชนนั้น นิยมเดินทางมาเมืองนี้
เพื่อบูชาพระบรมสารีริกธาตุ รวมทั้งชมประเพณีเก่าแก่ที่สืบทอดกันมาตามริมฝั่งแม่น้ำคงคา ไม่ว่าจะเป็น ดูการประกาศพระศาสดา, ดูคนอาบสรงในคงคา, ดูการวันทาดวงอาทิตย์, ดูพิธีการปลงศพ, ดูการเคารพน้ำศักดิ์สิทธิ์, มาปลงสัจจะแห่งชีวิต, มาพินิจสองฝั่ง อย่างเป็นธรรม ตลอดจนสัมผัสประเพณีการอาบน้ำล้างบาป และการเผาศพ อันเลื่องชื่อ
พาราณสีเคยเป็นเมืองหลวงของแคว้นกาสี เมื่อครั้งพุทธกาล ปัจจุบันคือเมืองบานารัส ตัวเมืองอยู่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำคงคา เคยเจริญรุ่งเรืองมาก่อน สินค้าส่งออกคือ ผ้าไหมกาสี เครื่องสำอาง และเครื่องประดับ ด้วยช่างฝีมือประณีต ป่าอิสิปตนะอยู่ที่นี่ เป็นสังเวชณียสถานแห่งหนึ่งในจำนวน ๔ แห่ง

กรุงพาราณสี

 

๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓ วันที่สามของการแสวงบุญ ตื่นนอนเวลา ๐๔.๐๐ น. ทำธุระส่วนตัวเสร็จแล้วก็เก็บกระเป๋าขึ้นรถ มีชาวอินเดียคอยช่วยยกกระเป๋าให้ สะดวกสบายไม่ลำบาก ทิปให้เขาไป ๒๐ บาทเขาก็ดีใจแล้ว เงินไทยเขาต้องการมากกว่าเงินรูปี ( ๑๐๐ บาทไทย = ๑๓๕ รูปี) รับประทานอาหารเช้าเวลา ๐๖.๓๐ น. จากนั้น ๐๗.๓๐ น. ขึ้นรถติดแอร์มุ่งหน้าสู่กรุงพาราณสี ใช้เวลาเดินทาง ๔ ชม. ข้างทางปลูกข้าวสาลีและมัสตาด ซึ่งมีดอกสีเหลืองอร่าม เวลาจะเข้าห้องน้ำ คนขับรถจะจอดรถข้างทาง ลงไปทำธุระตามต้นไม้ พงหญ้าที่ลับตาหน่อย วันแรกๆ เขินอายหน่อยเพราะไม่เคย วันต่อมากลายเป็นเรื่องธรรมดาไปซะแล้ว คนอินเดียสร้างที่สำหรับขายของแบบง่ายๆ เป็นกล่องสี่เหลี่ยม มีของวางขายจุกจิก ทั้งหมากพลู ขนมขบเคี้ยว ที่นี่ใครที่มีร้านขายของแค่เล็กๆ เขาก็ดีใจที่ได้เป็นเจ้าของ พวกเราแวะทานอาหารร้านข้างทางซึ่งทางทัวร์เตรียมข้าวกล่องไว้ให้ “ห้ามทานอาหารข้างทางให้ระวังท้องจะเสีย” และสั่งชาร้อนๆ มาจิบกัน เรียกว่า “กาลังจาย” รสชาติดี เณรสัญชัย ซึ่งเป็นชาวอินเดีย แต่บวชอยู่ในวัดไทย อายุประมาณ ๑๗-๑๘ ปี พูดไทยได้ค่อนข้างชัดและพูดภาษาอังกฤษได้ ติดตามพระอาจารย์เทียม นิสัยดีมาก คอยดูแลพวกเรา และช่วยต่อรองราคาของ ที่พวกเราจะซื้อให้ด้วย ก่อนจากกันได้ถวายทิปให้ 200 รูปี ท่านจะกลับนาลันทาเพื่อไปรับทัวร์คณะใหม่ ท่านมากับ อ.เทียม พระอาจารย์ของท่าน และมีวิทยากรองค์ใหม่มาแทนชื่อ อ.สุริยัน กำลังศึกษาปริญญาโทที่อินเดีย ชาวทิเบตเวลากราบพระจะกราบท่าอัษฎางคประดิษฐ์ ถึงเมืองพาราณสี เป็นเมืองใหญ่สกปรก ขอทานมาก ผู้คนก็มาจอแจ พาราณสีนั้นมีมหาวิทยาลัย มี 8 ม มีแม่น้ำใหญ่ เมืองแม่หม้าย มหาโพธิสัตย์ มฤคทายวัน หมากอรอยไหมสวย เมืองมรณะ มีรถผ่านไปบนหลังคามีศพห่อผ้าขาว คงจะมุ่งตรงไปแม่น้ำคงคา ศพเขาไม่ใส่โลง วางไว้ให้เห็น ถนนในกรุงพาราณสีที่ดีที่สุด ยังแย่กว่าถนนที่ว่าแย่ในเมืองไทยเราซะอีก ชาวฮินดูไม่กินกบ นับถือกบเป็นพระเจ้า นับถือต้นกระเพรา ถ้าเป็นบ้านเราก็ผัดเผ็ดกบใส่กระเพราพอดีเลย นอกจากนี้ยังนับถือวัว งู มีคนอิสานมาอยู่ที่วัดไทยสารนาถ ด้านหลังวัดเป็นทุ่งนา พวกเขาพากันจับกบมาทำอาหาร ชาวฮินดูเห็นเข้าก็เลยพากันมาล้อมวัด ต้องเจรจากันอยู่นานบอกว่าจับมาบูชาเรื่องจึงจบ วัดไทยสารนาถสร้างโดยชาวไทยที่ศรัทธาศาสนาพุทธ เป็นวัดใหญ่สวยงาม สะอาด คณะของเราจะพักที่นี่ ที่พักสะอาด แบ่งเป็นห้องๆ เหมือนโรงแรมชั้นดี ในห้องนอนก็มีห้องน้ำ ซึ่งมีทั้งน้ำอุ่น น้ำเย็นให้อาบ อากาศเย็นจึงต้องอาบน้ำอุ่น นำของเข้าเก็บที่ห้องพักแล้วก็ขึ้นรถไปชมเมืองพาราณสี ชาวเมืองพาราณสีส่วนใหญ่นิยมใช้รถจิ๊ปและรถตุ๊กๆ สามล้อเหมือนบ้านเราก็มี ประชากรของเขามีมาก ผู้คนพลุกพล่าน จอแจ ถนนหนทางไม่เป็นระเบียบ ไฟเขียว ไฟแดงก็ไม่มี ทั้งคนขับรถและคนเดินถนนต้องใช้ความสามารถพิเศษเฉพาะตัวในการใช้ถนน ขยะเกลื่อนกลาดแลดูสกปรก กรุงเทพฯเมื่อ 40 ปีก่อนยังดูสะอาดกว่า และหากนับถอยหลังไปเมื่อ 60 ปีก่อนของเมืองไทยก็ยังเจริญกว่าชนบทของอินเดียในปัจจุบัน เปรียบเทียบใกล้ๆ แค่ อ.ลับแล บ้านเกิดของดิฉันซึ่งเป็นบ้านนอกยังเจริญและสะอาดกว่า บ้านช่องดีกว่า ไม่ต้องอยู่บ้านดินเหนียว คนจนของชาวลับแลนำไม้ไผ่มาทำฝาบ้านและพื้นบ้าน อินเดียนั้นไม้ไผ่ก็ยังพอหาได้ สังเกตจากข้างทางบางแห่งยังนำไม้ไผ่มาจักสานขาย แต่เมืองของเขาเวลาหนาวก็หนาวมาก และเวลาร้อนก็ร้อนมากเช่นกัน พระวิทยากรอธิบายว่าแขกมีนิสัยดังนี้คือ ขี้ขู่ ขี้คุย ขี้ขอ ขี้โกง ขี้ขโมย ขี้เหม็น ขี้ขโมยนั้นคงจะเป็นบางคนเท่านั้น อินเดียมี 28 รัฐ มีพลเมืองทั้งหมดพันกว่าล้านคน พลเมืองมากเท่าๆ กับจีน แต่ประเทศจีนเขาดีกว่าด้านสุขอนามัย จีนเขารณรงค์เรื่องความสะอาด เรื่องห้องสุขา เขาพัฒนาไปดีกว่าอินเดียมาก ถึงจะเป็นชนบทอย่างไรเขาก็มีห้องสุขาให้ ไม่ต้องอาศัยทำภารกิจตามข้างทางอันโล่งแจ้ง อุจาดจากสายตาประชาชีที่ผ่านไปมา ชาวอินเดียเกิดมากก็ตายมาก เพราะสุขอนามัยไม่มี ความสกปรกมีทั่วซอกซอย นึกอยากจะถุยน้ำลายก็ถุยตามชอบใจ คนจนอยู่อย่างแร้นแค้น รวยก็รวยล้นฟ้า ตามถนนไม่มีสัญญาณไฟ อากาศเดือนกุมภาพันธ์เย็นสบาย หากใครที่คิดจะไปเที่ยวอินเดีย ขอให้ไปช่วงเดือนธันวาคม ถึงกุมภาพันธ์
อ.ไพจิตร พระวิทยากรบอกว่ามาอินเดียให้มาหน้าหนาว หน้าฝนอย่าหลงมา หน้าร้อนอย่าเสือกมา มีคุณนายคนหนึ่งมาเที่ยวอินเดียหน้าร้อนก็บ่นว่าร้อน นอนพักที่วัดแนะนำให้วัดที่พักนั้นติดแอร์ พระท่านบอกว่าไฟฟ้าที่อินเดียนี้ดับๆ ติดๆ ตลอดเวลา จะทำให้แอร์พังได้ง่าย ถ้าวันไหนไฟฟ้าไม่ดับถือว่าวันนั้นผิดปกติ คุณนายคนนั้นจึงแนะนำให้ใช้เครื่องปั่นไฟ พอลับหลังคุณนายพระท่านบ่นว่า “แล้วเสือกมาทำไม” คณะของเราพักทานอาหารกลางวันที่วัดไทยสารนาถ แล้วไปเที่ยวชมป่าอิสิปตนมฤคทายวัน สถานที่แสดงปฐมเทศนา นมัสการธัมเมคงสถูป สถานที่แสดงปฐมเทศบาโปรดปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ มีโกญทัญญะ วัปปะ มหานามะ ภัททิยะ อัสชิ ในวันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ ก่อนพุทธศักราช ๔๕ ปี พระโกญทัญญะดวงตาเห็นธรรมสำเร็จอรหันต์เป็นองค์แรก และสำเร็จทุกองค์ครบ ๕ องค์ และขอบวชเป็นภิกษุสาวกของพระศาสดา ที่ป่าอิสิปตนในครั้งนั้นได้ให้กำเนิดพระรัตนตรัย นมัสการพระมูลคันธกุฏิ กุฏิหลังแรกที่พระพุทธองค์จำพรรษาเป็นพรรษาแรก หลังจากตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ ชมสังฆารามกุฏิสงฆ์กว่าพันหลัง ปัจจุบันเหลือแต่กองดิน สถูปสร้างในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ศิลปะสมัยคุปตะ สูง ๓๔ เมตร รูปทรงระฆังคว่ำ คณะของเราพากันสวดธรรมจักรและนั่งสมาธิ แล้วเดินเวียนทักษิณา ๓ รอบ ชมเสาหินพระเจ้าอโศก ชมเจาคันฑีสถูป สถานที่พระพุทธเจ้าได้ทรงพบกับปัญจวัคคีย์ครั้งแรก
ชมสถานที่ที่พระพุทธเจ้าพบยสะกุลบุตร กำลังเดินบ่นว่าที่นี่วุ่นวายหนอ ที่นี่อึดอัดขัดข้องหนอ พระพุทธเจ้าตรัสว่า ที่นี่ไม่วุ่นวายหนอ พระองค์ได้แสดงธรรมให้ยสะกุลบุตรฟังจนดวงตาเห็นธรรม จึงขอบวชในบวรพุทธศาสนาขององค์ศาสดา ยสะกุลบุตรได้ชักชวนเพื่อนมาบวชอีก ๕๔ คน รวมแล้วเป็น ๖๑ องค์ คือพระพุทธเจ้า ๑ องค์ ปัญจวัคคีย์ ๕ องค์ ยสะกุลบุตร ๑ องค์ เพื่อนของยสะกุลบุตรอีก ๕๔ องค์ พ่อแม่ของยสะกุลบุตรได้มาตามบุตรชาย ได้ฟังธรรมของพระพุทธเจ้าแล้วขอถวายตัวเป็นอุบาสกอุบาสิกาเป็นคู่แรกของพุทธศาสนา ป่าอิสิปตนมฤคทายวันสมัยนั้นเป็นป่ารกชัฏมาก พวกฤๅษีชอบมาบำเพ็ญเพียรภาวนากันมากมาย คนอินเดียเขาเห็นการตายไม่สำคัญ ตายแล้วต้องรีบเผาทันทีไม่ไว้ค้างคืน เขาจะให้ความสำคัญกับการเกิดและการแต่งงานมาก ตัวอย่างเช่น เจ้าของบริษัท ทา ทา ขายเหล็กและสร้างรถยนต์ยี่ห้อ ทา ทา เป็นเศรษฐีอันดับที่ ๗ ของโลก จัดงานแต่งงานให้ลูกสาวใช้แผ่นทองเป็นการ์ดเชิญ สลักชื่อเจ้าสาว เจ้าบ่าว วันเวลาแต่ง สถานที่ที่จัดงาน เชิญแขกกินเลี้ยงฉลองแต่งงานเป็นเวลา ๓ เดือน (อ่านให้ดีนะคะ เป็นเวลา ๓ เดือน) เลี้ยงฉลองเป็นเวลา ๙๐ วัน รถยนต์ยี่ห้อ ทา ทา ขายดีที่สุดในอินเดีย เพราะเขาชาตินิยม ส่งออกขายทั่วโลก ในประเทศไทยก็มีบ้าง ไปชมแม่น้ำคงคา รถยนต์ใหญ่เขาไม่ให้เข้าต้องเดินเท่านั้น ผ่านความจอแจและแออัด ขอทานมีมากเช่นเคย มีร้านค้าของคนไทยด้วยเพราะเขียนเป็นภาษาไทย
เรื่องของแม่น้ำคงคามีเรื่องเล่ากันมากมาย แล้วแต่อาจารย์ใดคิดจะสร้างขึ้น ต้นน้ำคงคาเกิดบนเทือกเขาหิมาลัย สูงกว่าระดับน้ำทะเล ๑๓,๘๐๐ ฟุต ในคัมภีร์ปุรณะกล่าวว่า น้ำคงคาไหลมาจากปากวัว ซึ่งถือว่าศักดิ์สิทธิ์ ชาวฮินดูเชื่อกันว่า แม่น้ำคงคามีความยาวกว่า ๒,๕๐๐ กิโลเมตร เป็นแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ที่ไหลมาจากสรวงสวรรค์ ใครได้อาบได้กินถือเป็นมงคลชีวิต และการจุ่มตัวลงแม่น้ำแห่งนี้ สามารถชำระล้างบาปที่ทำมาตลอดชีวิต นอกจากนี้พวกเขายังศรัทธาเป็นมั่นเป็นเหมาะว่า หากจะตายต้องมาตายเมืองนี้ เพื่อจะขึ้นสวรรค์ จึงมี “มรณะโฮเตล” โรงแรมสำหรับผู้ป่วยหนัก ที่กำลังรอความตาย ตั้งอยู่ใกล้ท่าเผาศพด้วย และศพที่เผาริมฝั่งแม่น้ำคงคา เขาจะไม่เผาให้มอดไหม้เหลือแต่เถ้าถ่าน แต่จะเผาแค่ร่างไหม้ แล้วนำไปลอยที่กลางแม่น้ำ เป็นอาหารของนกกาและฝูงปลาก่อนจมสู่ใต้คงคา เพราะเชื่อกันว่าผู้ที่ถูกเผาในแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ จะหลุดพ้นจากวงโคจรชีวิต ไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิดอีก แต่ได้ขึ้นสวรรค์ในทันที ด้วยเหตุนี้ ชาวฮินดูจากทั่วสารทิศ ไม่ว่ารวยหรือจนจึงดิ้นรนมาเหยียบพาราณสีชมแม่น้ำคงคาให้ได้สักครั้งหนึ่งในชีวิต ถ้าอยากชมการเผาศพตามประเพณีเก่าแก่ของชาวฮินดูต้องไปที่ “ท่าน้ำมณิกรรณิการ์ฆาต” หนึ่งในท่าน้ำศักดิ์สิทธิ์ ชมแม่น้ำคงคาลงเรือตอน ๑๙.๐๐ น. อาศัยแสงจันทร์และแสงไฟมองเห็นริมฝั่งและแม่น้ำคงคา ที่ท่าน้ำมีเรือรับจ้างจอดรับคนท่องเที่ยว มีทั้งเรือแจว เรือมีประทุน เรือติดเครื่องยนต์คอยผู้ใช้บริการมากมาย ริมฝั่งแม่น้ำคงคาเห็นกองไฟลุกอยู่ประมาณ ๑๐ กอง เท่ากับกำลังเผาศพอยู่ ๑๐ ศพ ไฟที่ริมแม่น้ำคงคานี้ไม่เคยดับมา ๓,๐๐๐ ปีแล้ว คณะของเราล่องเรือไปเรื่อยๆ กลางแม่น้ำคงคา เห็นหนุ่มสาวชาวอินเดียนั่งเรือพลอดรักกัน สาวเจ้านอนซบอกหนุ่ม ทำให้นึกอยากเป็นสาวอีก กิเลสมาอีกแล้ว และถัดมาอีกเป็นท่าน้ำกำลังทำพิธีบูชาพระแม่คงคา แสงไฟสว่างไสวสวยงามตระการตา เสียงดนตรีภารตะดังก้องกังวาน คณะของเราจอดเรือดูเขาเต้นระบำบูชาคงคา บนฝั่งเห็นคนแน่นขนัด เรือหลายลำต่างจอดดูเหมือนคณะเรา ริมฝั่งแม่น้ำกลิ่นเหม็นคาวมาก แต่กลางแม่น้ำกลับไม่มีกลิ่น มีมรณะโฮเตลอยู่บนฝั่ง คนใกล้ตายหรือคนป่วยหนักจะพากันมาพัก เมื่อตายแล้วใช้ผ้าพันรอบตัวศพจับจุ่มน้ำแล้วเผาตรงนั้น กวาดศพและขี้เถ้าลงแม่น้ำคงคา แล้วจะได้ไปเฝ้าพระเจ้าของเขา ริมฝั่งแม่น้ำจะมีตึกหลังหนึ่งเป็นที่อาศัยของบรรดาแม่หม้ายที่สามีตาย ญาติพี่น้องฝ่ายสามีจะรังเกียจจึงมาอยู่รวมกลุ่มกันที่นี่ มีนิตยสารฉบับหนึ่งดิฉันจำชื่อไม่ได้มาสัมภาษณ์แม่หม้ายเหล่านี้ พวกเธอบอกว่าหักอกเดียวกัน เห็นอกเห็นใจกัน ได้คุยและปรับทุกข์กัน มีอายุตั้งแต่ ๑๗ ถึง ๗๐ ปี คืนนั้นได้อธิษฐานและลอยประทีปกัน เป็นกระทงใบตองแห้งเล็กๆ บรรจุดอกไม้ เช่น ดอกดาวเรือง เพื่อบูชาพระพุทธเจ้า เขาเข้าใจว่าอัฐิบางส่วนของพระพุทธเจ้าจมอยู่ใต้แม่น้ำคงคา เมื่อลอยประทีปเสร็จกลับที่พัก พักที่วัดไทยสารนาถ นอนกัน ๓ คน สะดวก สบาย สะอาดใช้ได้เหมือนโรงแรม มีน้ำอุ่นอาบ วัดต่างๆ จะสร้างห้องให้ผู้แสวงบุญได้พักอาศัย บางวัดสามารถรับคนพักได้ถึง ๓๐๐ คน
หากอยากชมวิถีชีวิตริมน้ำแท้ๆ ของชาวเมืองนี้ล่ะก็ ลองนั่งเรือรับจ้างจาก “ท่าน้ำทศวเมธ” แล่นออกไปกลางแม่น้ำคงคา คุณจะได้เห็นพวกแขกมาอาบน้ำกันคึกคัก ทั้งวักน้ำลูบหน้าลูบตา บ้างก็นั่งสวดมนต์ นั่งสมาธิ และดัดตนตามท่าโยคะต่างๆ ตามท่าน้ำใหญ่ๆ ยังมีหมอนวดท้องถิ่นคอยให้บริการ คิดค่าจ้างเพียงน้อยนิด แต่ผ่อนคลาย อย่างไรก็ดี องค์การอนามัยโลกเคยนำตัวอย่างน้ำในแม่น้ำคงคาไปตรวจวิเคราะห์ เพราะเป็นห่วงเป็นใยในสุขอนามัยของชาวอินเดีย แต่ผลลัพธ์ปรากฏว่า จำนวนแบคทีเรียในแม่น้ำคงคาอยู่ในระดับที่ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของคน เนื่องจากในแม่น้ำคงคามีกำมะถัน ซึ่งช่วยปรับสมดุลได้ตามธรรมชาติ...นี่ละความมหัศจรรย์ของเมืองศักดิ์สิทธิ์แห่งอินเดีย ซึ่งยืนหยัดอยู่คู่แดนภารตะมานานกว่า ๔ พันปีแล้ว โดยชาวฮินดูเชื่อกันว่า แม้โลกจะถูกทำลายด้วยน้ำหรือไฟ แต่ยังไงซะ “พาราณสี” ก็จะเป็นอมตะนครตลอดกาล!
http://www.thairath.co.th/

๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓ วันที่สี่ของการแสวงบุญอินเดีย เช้านี้ตื่นตอนตี ๔ ทำธุระส่วนตัว แต่งตัวเสร็จเก็บของใส่กระเป๋า ลากกระเป๋ามาไว้หน้าห้อง ชาวอินเดียมานอนคอยหน้าห้องเพื่อจะขนกระเป๋าและรับใช้เล็กๆ น้อยๆ คงนอนคอยทั้งคืนเห็นมีผ้าห่มคนละผืน อากาศข้างนอกหนาวมาก ดิฉันเห็นแล้วสงสาร เห็นว่ามีเพียง ๗ คนเท่านั้นไม่ใช่จำนวนมากจึงแจกเขาคนละ ๒๐ รูปี พวกเขาดีใจกันมาก เปิดประตูออกมาชมวิวข้างนอกเห็นหมอกลงจัด ลมพัดแรง อากาศสดชื่น สูดอากาศได้เต็มปอด ห้องพักดี อาหารพร้อม เป็นอาหารไทยแบบง่ายๆ อิ่มท้องได้พอแล้ว คณะเราช่วยทำบุญทุกวัด โดยทุกวัดจะมีชาวอินเดียมาช่วยทำงานเป็นเด็กวัด บางวัดเก็บเด็กขอทานมาบวชให้เรียนหนังสือ ช่วยยกกระเป๋า ล้างจาน ทำความสะอาด ส่วนอาหารนั้นเป็นคนไทยทำ บางวัดเป็นชี บางวัดเป็นผู้ชายไทย ดอกไม้ในวัดสวยงาม ดอกใหญ่ เพราะอากาศเย็น เวลา ๐๗.๒๐ น. เตรียมขึ้นรถเดินทางไปสาวัตถี พระวิทยากรเริ่มจับไมค์และพูดว่า คนไทยชอบแจก แขกชอบขอ ฝรั่งชอบรอ(เข้าคิวรอ) ผู้ให้ดี ๕ ประการ ผู้รับยิ้มชื่นใจ ผู้ให้ย่อมใหญ่กว่า ผู้ให้ภูมิใจดีกว่าผู้รับ ผู้ให้พ้นภัย ผู้ให้ใจเบิกบาน

 ในสมัยพุทธกาล นครสาวัตถีเป็นเมืองหลวงของอาณาจักรโกศล แคว้นโกศลเป็นแคว้นที่รุ่งเรืองมีอำนาจมาก สาวัตถีเป็นมหาอำนาจทางการเมืองและทางทหารที่มีความพร้อมด้วยแสนยานุภาพ แผ่นดินอุดมด้วยพืชพันธุ์ธัญญาหาร พระพุทธองค์จึงปักหลักประกาศพระพุทธศาสนาอยู่ที่สาวัตถีรวม ๒๕ พรรษา โดยเสด็จประทับที่
เชตะวันมหาวิหาร ๑๙ พรรษา และที่วัดบุพผาราม ๖ พรรษา อ.ไพจิตร นำสวดมนต์ทำวัตร แผ่เมตตา เสร็จแล้วสังเกตเหตุการณ์นอกรถได้เต็มที่ เสียงสวดมนต์ทำให้อยากหลับ ชาวอินเดียมีเงิน ๕๐๐ รูปี เลี้ยงครอบครัวได้ทั้งเดือน หลวงพ่อวัดไทยสารนาถผู้เล่าให้ฟัง สาธุขอให้เกิดและตายในประเทศไทยเถิด บางคนอธิษฐานให้ไปตายที่อินเดีย ขอตายในแดนพระพุทธเจ้า แต่ดิฉันไม่ปรารถนาเช่นนั้นเลย ประเทศไทยดีที่สุด น่าอยู่ที่สุด อุดมสมบูรณ์ที่สุด พระวิทยากรอธิบายว่า คนรวยปรารถนาที่จะไปตายและเผาที่แม่น้ำคงคา แต่คนจนไม่มีเงินต้องเผากันที่แม่น้ำเนรัญชลา เผากันบนกองทราย เพราะแม่น้ำแห้ง มีแต่ทราย เป็นทะเลทรายไปแล้ว นั่งรถผ่านเห็นแขกเขาล้อมรั้วไว้ พระวิทยากรเล่าว่า แขกที่จะสร้างบ้านเขาจะล้อมรั้วไว้ก่อน รั้วเป็นอิฐสีแดงเหมือนบ้านเรา รอให้มีเงินค่อยสร้างบ้าน เขาจะค่อยๆ สร้างเพราะสร้างเสร็จสมบูรณ์จะเสียภาษีมาก เขาจึงสร้างไม่ให้เสร็จ มีเหล็กโผล่ออกมาบ้าง หลังคาไม่เสร็จบ้าง มีลูกมีหลานจะต่อเติมไปเรื่อยๆ  หน้าบ้านจะมีกองอิฐ กองทรายแทบทุกบ้าน ให้รู้ว่ายังสร้างไม่เสร็จไม่ต้องเสียภาษี บางบ้านรั้วพังแล้วยังไม่สร้างบ้าน แต่มีกระต๊อบอยู่ข้างๆ รั้ว จากพาราณสีไปสาวัตถีระยะทาง ๓๐๐ กม. ใช้เวลาเดินทาง ๑๐ ชม. เพราะทางไม่ดี รถยนต์วิ่งเร็วไม่ได้ ถนนแคบมาก รถสวนกันทีหวาดเสียวมาก แต่คนขับเขามีความสามารถ ดิฉันไม่เข้าใจอะไรต้องถามให้รู้และเข้าใจ พระวิทยากรดีเหลือเกิน อธิบายได้ดีมาก เพราะดิฉันคิดถึงสุภาษิตบทหนึ่งว่า “ผู้ถามย่อมได้ความรู้ คนอวดรู้คือคนโง่ อายครูบ่รู้วิชา อายภรรยาบ่มีบุตร” สองข้างทางปลูกต้นพยุงเอาไว้ตลอดทางต้นใหญ่มาก ทางรัฐบาลอินเดียห้ามชาวบ้านตัดต้นไม้ ใครตัดต้นไม้จะมีความผิด ชาวบ้านจึงเอามีดบ้าง ขวานบ้าง มาถากเปลือกไม้ไปทำฟืน บางต้นโดนถากเปลือกจนถึงเนื้อไม้ ยืนต้นตายเป็นแถว เพราะเปลือกไม้จะส่งอาหารและน้ำไปเลี้ยงลำต้น เมื่อไม่มีเปลือกต้นไม้ก็จะยืนต้นตายเพราะอดน้ำอดอาหาร เห็นชาวบ้านกวาดใบไม้ไปทำเชื้อไฟ ใต้ต้นไม้จะไม่เห็นใบไม้ร่วงหล่นเลย ดิฉันเห็นต้นไม้ยืนตายแล้วรู้สึกหดหู่ใจมาก เพราะความโลภ ความอยากได้ และความต้องการของมนุษย์ที่ไม่รู้จักคำว่าพอ ท่านมหาตะมะคานธีกล่าวไว้ “ทรัพยากรในโลกนี้มีพอเพียงกับมนุษย์ แต่มนุษย์ไม่รู้จักคำว่าพอ” ต้นไม้ใหญ่ 1 ต้น ที่แผ่กิ่งก้านนั้นเป็นร่มเงาให้กับโลก ให้ความสดชื่น เท่ากับแอร์เครื่องใหญ่ 1 เครื่อง ท่านพระครูวิรัตน์ เจ้าอาวาสวัดดอยท่าเสา ท่านจะรณรงค์เรื่องให้อยู่กับธรรมชาติด้วยเอื้ออารีย์ต่อกัน เราทำลายธรรมชาติ ธรรมชาติก็จะทำลายเรา เรื่องมลภาวะ เรื่องสิ่งแวดล้อม เช่นภัยพิบัติที่เกิดขึ้นเสมอ ถ้าเราช่วยกันปลูกต้นไม้ทุกคน คนละต้น เท่ากับพวกเราบริจาคแอร์ให้กับโลกคนละเครื่อง
เมืองสาวัตถีนี้มีเหตุการณ์มากมายที่เกิดขึ้นที่นี่ นางวิสาขาอยู่เมืองนี้ เจ้าเชตุ และเศรษฐีบิณฑิกะอยู่เมืองนี้ เศรษฐีบิณฑิกะเป็นมหาอุบาสก และนางวิสาขาเป็นมหาอุบาสิกาของพระพุทธเจ้า ผู้หญิงอินเดียใส่สาหรี่สีฉูดฉาดแต่สวยดี รถจอดให้คณะของเราทำธุระข้างทาง หญิงซ้าย ชายขวา ไม่มีใครอายใคร เป็นเรื่องธรรมดา การขับถ่ายมันอั้นไม่อยู่ เสร็จแล้วพากันขึ้นรถคุยกันสนุกสนาน ว่าใครเหยียบโดนอะไรบ้าง ใครเหยียบอุจจาระคนหรือสัตว์ ต้องทิ้งรองเท้าคู่นั้นทันทีเพราะถ้าใส่ขึ้นรถจะเหม็นทั้งรถ ต้องเตรียมรองเท้าถูกๆ ไป ๒-๓ คู่ ข้างทางมีผู้หญิงอินเดียนุ่งสาหรี่สีสดเดินเลี้ยงแพะกัน ๘ คน ถือไม้เดินไล่แพะ ต่อมารถหยุดแวะข้างทางมีร้านอาหารของชาวอินเดีย เพื่อให้พระฉันท์อาหาร พวกเราเฮโลลงสังเกตการณ์เพราะอิ่มบนรถแล้วเป็นข้าวกล่อง ไปดูแขกเขาทำจำปาตี คือแป้งแผ่นกลมๆ ปิ้งไฟให้หอมกินกับแกงเหมือนแกงกะหรี่ บ้านเราใส่เครื่องเทศ ซื้อมา ๒ อัน = ๑๐ รูปี รสชาติเหมือนแป้งจี่บ้านเรา เหนียวๆ จืดๆ แล้วสั่งกาลังจายมา ๑ แก้ว ราคา ๑๐ รูปี รสชาติเข้มข้นดี ข้างทางเห็นอีกาหลายตัวส่งเสียงร้อง รถวิ่งมาเกือบถึงเมืองสาวัตถีแล้วมีคนร้องว่านั่นตัวอะไรยืนอยู่ข้างทาง พระอาจารย์วิทยากรบอกว่าชื่อม้านิลกาฬ มันชอบอยู่บนภูเขาที่อากาศเย็น คงจะลงมาหาอาหาร อาจารย์บอกว่าโชคดีที่ได้เห็นเพราะเห็นตัวยาก แต่ดิฉันคิดว่าน่าจะเป็นแพะภูเขา แถบภูเขาหิมาลัย เพราะใกล้เชิงเขาหิมาลัยแล้ว ดิฉันไม่เห็นเพราะมัวนั่งหลับ คนบนรถลุ้นกันใหญ่ เวลารถวิ่งสวนทางกันจะห่างเพียงแค่ ๓-๔ นิ้ว คนขับรถทุกคนเก่งมาก ไม่เห็นมีชนกัน ถึงเมืองบางลำปูร คนไทยเรียกบางลำพู ซึ่งผลไม้ เช่น แอปเปิล ทับทิม แอปเปิลลูกเล็กๆ เหมือนพุทรา แต่หวานกรอบอร่อย ผลทับทิมสีสวย เปลือกแดงสด ข้างในเมล็ดใสสีแดงเหมือนเม็ดทับทิมสยาม แต่อร่อยสู้ทับทิมจีนไม่ได้ เวลา ๑๙.๑๕ น. ถึงวัดพุทธเกาหลี คณะของพวกเราจะพักกันที่นี่ วัดสะอาด กว้างขวางเหมือนโรงแรม พวกเราพักกันที่นี่ ได้พักที่ชั้น ๒ ห้อง ๒๐๙ นอนกัน ๔ คน มี ๔ เตียง ห้องใหญ่สะอาด มีน้ำอุ่นอาบ ในทุกๆ คืนดิฉันจะต้องเข้านอนเวลา ๒๑.๐๐ – ๒๒.๐๐ น. ต้องรีบนอนให้หลับโดยการทำสมาธินอน กำหนดลมหายใจเข้าออก เพราะต้องรีบตื่นแต่เช้า มิฉะนั้นจะแย่งกันเข้าห้องน้ำ

วัดพุทธเกาหลี

๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓ วันที่ ๕ ของการแสวงบุญอินเดีย ตื่นนอนเวลา ๐๔.๔๐ น. ทำกิจธุระส่วนตัวแล้วก็เก็บของลงกระเป๋า เตรียมย้ายไปพักที่วัดแห่งใหม่ที่คณะทัวร์พาไป ทุกวัด ทั้งวัดไทย วัดเกาหลี จะมีชาวอินเดียมาคอยบริการยกกระเป๋า เขามามารอตั้งแต่เช้าเพื่อค่าจ้างเล็กๆ น้อยๆ ลงไปทานอาหารเช้าเวลา ๐๖.๐๐ น. มีอาหารวางเตรียมพร้อมเป็นอาหารไทย มีคนพูดว่าเลยไปหน่อยจะเป็นสำนักของอุบาสิกาบงกฤช มาสร้างไว้หลายปีแล้วแต่ยังไม่เสร็จ จึงยังไม่เปิดให้ชม มองไปเห็นเจดีย์สีขาวตั้งตระหง่านสวยงามมาก สำนักหรือวัดของอุบาสิกาบงกฤชชื่อ “แดนมหามงคล” ไว้สำหรับเป็นที่รวมตัวของชีชาวพุทธทั้งหมด วัดเกาหลีมีห้องอาหารและโรงครัวกว้างขวาง สะอาด บรรจุคนได้ร้อยกว่าคน มีเก้าอี้นั่งได้โต๊ะละ ๘ คนบ้าง ๔ คนบ้าง นั่งสบายไม่เบียดให้อึดอัด ให้ ๕ ดาวไปเลย มีคนนำทับทิมมายื่นให้ชิม สวยแต่รูป รสชาดไม่อร่อยเลย บริเวณวัดกว้างขวางมาก และกำลังต่อเติมเรื่อยๆ ชาวพุทธ
ศรีลังกามาพักที่นี่เหมือนกัน เจอกับคนไทยที่มาคนละทัวร์ก็พักที่นี่ด้วย ได้พูดคุยกัน อิ่มแล้วก็เดินสูดอากาศยามเช้าในวัด มีนกกาหลายตัวส่งเสียงร้องดัง ถ่ายรูปร่วมกับเด็กหนุ่มชาวอินเดียชื่อ มูกีส ซึ่งเป็นคนคอยบริการบนรถบัส เวลาคณะเราขึ้นลงจะคอยช่วยดูแล คู่กับอาลาดินไกด์นำทางซึ่งได้แนะนำตัวเองตั้งแต่วันแรกว่าผมเป็นเด็กวัดครับ และเรียกดิฉันว่า “แม่” ทุกครั้ง น่ารักมาก อาลาดินมีบุตร ๓ คน ภรรยา ๑ คน เขาได้ดีเพราะอาศัยวัดไทย และพระสงฆ์ไทยส่งเสริม จึงได้อาชีพ พวกเขาไม่เคยว่างเลยมีคณะทัวร์มาลงทุกวัน อาลาดินพูดไทยได้ดี ผู้หญิงชาวอินเดียจะอยู่บ้าน ทำงานบ้านเลี้ยงลูก โดยสามีจะเป็นผู้หาเงินเข้าบ้าน นอกเสียจากว่าสามีตายเท่านั้นพวกเธอก็จะออกไปทำงานนอกบ้าน อาชีพรับจ้างบ้าง ขายของบ้าง พาลูกของทานบ้าง คนไทยที่นับถือพุทธมุ่งหวังจะมาอินเดียเพื่อมากราบไหว้สังเวชณียสถาน ๔ ตำบล เช่นเดียวกับชาวอิสลามที่มุ่งไปทำเมกกะที่ประเทศซาอุดิอารเบีย ทุกคนไปทำพิธีฮัจที่นั้นครั้งหนึ่งในชีวิต พระพุทธองค์ทรงตรัสบอกพระอานนท์ ก่อนปรินิพพานว่า “ดูก่อนอานนท์ สถานที่เหล่านี้คือ สถานที่พระตถาคตประสูติ สถานที่ตถาคตตรัสรู้ สถานที่แสดงปฐมเทศนา และสถานที่เสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน ชนเหล่าใดท่องเที่ยวไปยังสถานที่เหล่านี้ด้วยจิตอันเลื่อมใสใจเกิดธรรมสังเวชเบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก จักเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์”
เวลา ๐๗.๐๐ น. มุ่งตรงไปเนปาลผ่าน “แดนมหามงคล” ของอุบาสิกาบงกฤช รถแล่นมาเรื่อยๆ ซ้ายมือเป็นบ้านพ่อองคุลีมาล ซึ่งเป็นปุโรหิต รถได้แวะจอดชม พระวิทยากรอธิบายไปเรื่อยๆ มีฐานะดีบ้านสมัยนั้นคงใหญ่และหลายชั้น แต่เขาขุดให้เห็นแค่ ๓ ชั้น ขวามือเป็นบ้านของอนาถบิณฑิกเศรษฐี บ้านเป็นปราสาท ๗ ชั้น แต่พังชำรุดไปตามกาลเวลา เขาขุดและบูรณะให้เห็นแค่ ๓ ชั้น กำลังขุดฐานชั้นล่างอีก เดินชมบ้านทั้งสองแห่ง มีขอทานมานั่งตีกลองร้องเพลงทำนองสวดเสียงเพราะมาก
“บุดดัง สาระนัง คัจฉามิ ฯลฯ ทำบุญไป ๒๐ รูปี ขึ้นรถผ่านเมืองเชตวัน เห็นมีลิงอาศัยอยู่มากพอสมควร รถแล่นมาถึงหน้าวัดเชตะวันมหาวิหาร ที่อนาถบิณฑิกเศรษฐีบริจาคทองและเงินปูเท่าพื้นที่ที่ดิน เพื่อซื้อจากเจ้าเชต เป็นเงิน ๒๗ โกฎิ (๑ โกฎิ = ๑๐ ล้าน) สร้างอารามและสังฆาวาสอีก ๒๗ โกฎิ เจ้าเชตเห็นความจริงใจของบิณฑิกเศรษฐี จึงออกปากขอสร้างซุ้มประตูเข้าวัด และขอให้ใช้ชื่อวัดว่า “เชตวนารามมหาวิหาร” มีคนเข้าชมวัดมากมาย ไทย ศรีลังกา พม่า ทั้งพระและโยมพากันชมที่แสดงธรรมของพระพุทธเจ้า ชมมูลคันธกุฎีของพระองค์จำพรรษาที่ที่นานที่สุด และพากันสวดมนต์ นั่งสมาธิแผ่เมตตา ระลึกถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นมัสการพระคันธกุฎิ ฤดูร้อน ฤดูหนาว ฤดูฝน นมัสการธรรมศาลาที่ใหญ่ที่สุด กุฎิพระอรหันต์ เช่น พระโมคคัลลา พระสารีบุตร พระราหุล พระสิวลี พระองคุลีมาล พระกัสสปะ และอารามฝ่ายพระภิกษุณีที่เคยจำพรรษาในครั้งพุทธกาล และนมัสการต้นโพธิ์พระอานนท์ ที่มีอายุยืนยาวมาจนถึงปัจจุบัน รวมอายุ ๒๕๐๐ ปี นางวิสาขาได้มาฟังธรรมที่วัดนี้เป็นประจำ และวันหนึ่งได้ลืมเครื่องประดับคือ มหาลดาปาสาธ์ มีค่าถึง ๒๕ โกฎิ จึงได้ถวายพระพุทธเจ้าแต่พระองค์ปฏิเสธ นางจึงประกาศขายแต่ไม่มีใครซื้อ นางจึงซื้อไว้เองแล้วเอาเงินนั้นไปสร้างวัดชื่อวัดบุพพาราม ซึ่งอยู่ใกล้กันนั่นเอง ปัจจุบันมีเสาหินของพระเจ้าอโศกปักไว้เป็นมูลดินเท่านั้น นางวิสาขาจะเป็นโยมอุปฐากพระทั้งดีและไม่ดี เช่น พระอุทายี ซึ่งเป็นพระเจ้าชู้กรุ้มกริ่ม นางวิสาขามีบุตรธิดารวม ๒๐ คน มีหลานและเหลนเป็นร้อยคน นางวิสาขามีความงาม ๕ ประการ คือ งามผม งามผิว งามฟัน ปากงามอิ่มเอิบ วัยงาม ชมบ่อน้ำสมัยพุทธกาลที่ยังอยู่จนปัจจุบัน น้ำไม่เคยแห้ง แขกตักมาขายขวดละ ๑๐ รูปี พระวิทยากรอธิบายไปเรื่อยๆ กล่าวถึงพระสิวลี ผู้มากด้วยลาภสักการะ ไม่เคยอดอยากแม้ในที่กันดาร พระสิวลีบรรลุธรรมเมื่ออายุ ๗ ขวบอยู่ในครรภ์มารดา ๗ ปี ๗ เดือน ๗ วัน พระโมคคัลลานั้นเป็นผู้มากด้วยปัญญา ซึ่งเป็นอัครสาวกเบื้องซ้ายและเบื้องขวา ชมโรงสภาอันเป็นที่ฉันน้ำปานะและถกเถียงปัญหาธรรมกัน วัดไทยเชตวันกำลังก่อสร้าง สวดมนต์ทำสมาธิ เดินเวียนประทักษิณ ๓ รอบ
เวลา ๑๑.๓๐ น. นั่งรถบัสเพื่อไปเนปาลต้องผ่านด่านโสเนาว์ลี ทางไม่ดีเลย ทานอาหารกลางวันบนรถ สร้างความสนุกสนานให้กับทุกคน รถโยกไปมากระดอนหน้ากระดอนหลัง ไล่งับช้อนที่ตักอาหารเข้าปากบ้าง เข้าจมูกบ้าง อร่อยไปอีกแบบหนึ่ง อิ่มแล้วนั่งสังเกตข้างทาง ผ่านบ้านชาวอินเดียไม่เห็นปลูกดอกไม้เลย แต่คนอินเดียบูชาพระเจ้าด้วยดอกไม้ คณะเรากำลังจะไปยังที่ประสูติของพระพุทธเจ้า ที่สวนลุมพินีวัน ปัจจุบันอยู่ในเขตประเทศเนปาล คนบนรถคุยกันว่าเขามาทุกปี ปีนี้เป็นครั้งที่ ๕ บ้าง ครั้งที่ ๖ บ้าง คนเราคิดกันต่างมุม ส่วนดิฉันคิดว่ามาครั้งเดียวเป็นบุญตาบุญใจแล้ว ขอให้ปฏิบัติและยึดมั่นในพระธรรมคำสอนของพระศาสดา ไม่จำเป็นต้องมาบ่อยๆ เป็นคนดีไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน อย่าอิจฉาริษยาผู้อื่นเมื่อเห็นเขาได้ดี ไม่กล่าวว่าร้ายผู้อื่น อย่ายกตนข่มท่าน ให้รักษาศีล ๕ ให้ได้ ถึงด่านโสเนาว์ลีธ์เกือบเย็น ผ่านการตรวจวีซ่าเข้าประเทศเนปาล รอเป็นนานเป็นชั่วโมง เขาทำงานล่าช้ามาก เข้าแดนเนปาลบ้านเมืองสะอาดกว่าอินเดีย มีระเบียบกว่า พวกเราเข้าพักที่วัดเกาหลีเนปาล วัดมีบริเวณเล็กกว่าวัดเกาหลีอินเดีย แต่เขาสร้างวัดโชว์เสาต้นใหญ่สวยงาม ดูแข็งแรงดี การจัดห้องนอนเป็นสัดส่วนดี พวกเรานอนกันห้องละ ๓ คนบ้าง ๒ คนบ้างแล้วแต่ขนาดห้อง


 

๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓ วันที่ ๖ ของการแสวงบุญอินเดีย วันนี้เป็นวันคล้ายวันเกิด แล้วยังเดินทางมายังแดนพุทธภูมิ ที่ประสูติของพระองค์ศาสดาอีก ตื่นมาเวลา ๐๔.๐๐ น. ตามปกติ ทำสมาธิเล็กน้อย แล้วจึงทำธุรกิจส่วนตัว พักวัดพุทธเกาหลีประเทศเนปาล ที่นอนดี เสียแต่ไฟดับบ่อยต้องปั่นไฟใช้เอง เป็นเรื่องธรรมดาของบ้านเมืองแถบนี้ ที่แถบนี้มี ๖,๐๐๐ ไร่ เป็นของรัฐบาลเนปาลจัดแบ่งให้ทุกประเทศมาสร้างวัดบริเวณนี้ ๒๐ ไร่, ๑๐๐ ไร่ แล้วแต่ความสามารถของแต่ละประเทศต้องการมากน้อย บริเวณป่าแถบนี้ยังมีสุนัขจิ้งจอกอาศัยอยู่มาก บางครั้งคนที่มาพักยังได้ยินสุนัขจิ้งจอกหอน นอกจากนี้ยังมีม้านิลกาฬวิ่งอยู่เพราะอยู่เชิงเขาหิมาลัย เข้าไปทานอาหารเช้าที่วัดไทยลุมพินี เมื่อวานเย็นก็ทานที่นั่นด้วย ทางวัดปลูกผักเอง ทั้งสด ทั้งกรอบ อร่อยมาก เช้านี้หมอกลงจัด มองอะไรไม่ค่อยเห็น กลุ่มเด็กขอทานมายืนออกันเต็มหน้าวัด คุณแม่จันทีพูดว่าวันนี้วันเกิดทำบุญได้เลย ขอบคุณแม่ชีจันทีมาก ดิฉันไปเหมาขนมจากชาวอินเดียที่มานั่งขายไปหลายร้อย แจกเด็กๆ ที่มานั่งรับเป็นระเบียบ เพราะอาลาดินช่วยเป็นล่ามส่งภาษาอินเดียให้เรื่องจึงเรียบร้อยดี ปลื้มปิติกับการทำบุญ คุณแม่จันทีนั่งมองดิฉันแจกทานด้วยใบหน้ายิ้มละไม คงปลื้มปิติกับดิฉันด้วย ถ่ายรูปไว้ดูหลายใบเลย คนในคณะช่วยถ่ายรูปให้พร้อมกับร่วมยินดีกับดิฉันแล้วอนุโมทนาบุญด้วย อากาศช่างสดชื่นมีความสุขมาก เช้านี้ได้ทั้งศีล ทาน ภาวนาครบองค์เลยนะ ที่พักของคณะเราอยู่ติดเชิงเขาหิมาลัย เวลา ๐๖.๑๕ น. ขึ้นรถไปทานอาหารเช้าที่วัดไทยลุมพินี หมอกลงหนามากมองอะไรไม่ชัดเจนเลย เวลา ๐๗.๓๐ น. ออกเดินทางไปที่ประสูติพระพุทธเจ้าทุกคน บนรถอวยพรให้และร่วมกันร้องเพลง
แฮปปี้เบริดเดย์กันลั่นรถเลย มีความสุขมาก หยอกเย้ากันบนรถสนุกสนาน

ลุมพินีสวนลุมพินีวัน คือสถานที่ประสูติของพระพุทธเจ้าในตำบล “ลุมมินเด” ก่อนนั้นยังอยู่ในเขตอินเดีย คราวเมื่อแบ่งปันเขตแดนหลังสงครามในปี พ.ศ.๒๔๙๓ ลุมพินีวันตกอยู่ในเขตของประเทศเนปาล เมื่อมองย้อนอดีต สถานที่ตั้งอยู่กึ่งกลางระหว่างกรุงกบิลพัสต์กับกรุงเทวทหะ มีโขดเขาโอบล้อมรอบประดับด้วยหมู่ไม้นานาชนิด สระน้ำ บรรณศาลาที่พัก ดอกไม้สวยงาม เป็นที่พักผ่อนของทั้งสองเมือง
 เมื่อพระนางสิริมหามายาครรภ์แก่จนครบกำหนด มีความปรารถนาจะเสด็จไปคลอดที่พระราชวังของบิดา คือที่กรุงเทวทหะซึ่งเป็นประเพณีชาวอินเดีย เมื่อถึงสวนลุมพินีวันทรงประชวรพระครรภ์จะประสูติ จึงให้หยุดขบวน ประทับใต้ต้นสาละ ทรงยืนเหนียวกิ่งสาลประสูติพระโอรส ตรงกับวันศุกร์ ขึ้น ๑๕ ค่ำ ปีจอ เดือน ๖ (วันวิสขปุรณมี) ในเวลาสายใกล้เที่ยง พระวรกายบริสุทธิ์ไม่มีรอบเปรอะเปื้อนเลย พระองค์เสด็จออกจากพระครรภ์ ผินพระพักตร์ไปทางทิศเหนือ ก้าวพระบาทไป ๗ ก้าว เหลียวดูทิศน้อยใหญ่และเปล่งพระสุรเสียงว่า...
   เราจะเป็นผู้เลิศที่สุดในโลก
เราเป็นผู้เจริญที่สุดในโลก
   เราเป็นผู้ประเสริฐที่สุดในโลก
   ชาตินี้เป็นชาติสุดท้ายของเรา ภพใหม่ไม่มีแก่เราอีกแล้ว
ที่ตั้งปัจจุบัน
 ลุมพินี สถานที่ประสูติ อยู่ในตำบลลุมมินเด อำเภอรูปันเดฮี จังหวัดลุมพินี ประเทศเนปาล ห่างจากเมืองโครักขปูร์ รัฐอุตตรประเทศ ประเทศอินเดีย ประมาณ ๙๓ กม. ห่างจากด่านโสเนาว์ลีประมาณ ๒๖ กม. บริเวณสวนลุมพินีเป็นทุ่งโล่ง รัฐบาลได้ปลูกต้นประดู่ลายและกั้นกำแพงรอบบริเวณ ประดับด้วยสวนดอกไม้สีสันสวยงาม เป็นสถานที่รื่นรมย์น่าพักผ่อน อยู่ในความดูแลของรัฐบาลเนปาล เสียค่าผ่านประตูท่านละ ๑ ดอลล่า เป็นสถานที่สำคัญที่ชาวพุทธควรเดินทางไปนมัสการ
 วิหารพระนางมายาเทวี พุทธมารดา ข้างในมีรูปสลักหิน เป็นภาพพระนางกำลังยืนเหนี่ยวต้นสาละ ประสูติเจ้าชายสิทธัตถะ และมีแผ่นหินคล้ายรอยพระบาทของพระสิทธัตถะกุมาร เมื่อเหยียบแผ่นดินครั้งแรก ณ จุดนี้พากันปิดทองและถ่ายรูปเป็นที่ระลึก พากันสวดมนต์ ทำวัตร นั่งสมาธิ แผ่เมตตา พระอาจารย์ไพจิตรนำสวดชะยันโต อวยพรวันเกิดให้สวดกันดังกระหึ่มเลย ปลื้มจนน้ำตาไหล เป็นวันเกิดที่สุดแสนวิเศษที่ได้มาอยู่ตรงแดนประสูติของพระพุทธองค์คือสวนลุมพินี พระอาจารย์ไพจิตรมีเมตตา ได้อวยพรวันเกิดให้ด้วย มีเสาหินหลักศิลาสูง ๑๔ ฟุต วัดรอบได้ ๗ ฟุต ๓ นิ้ว ที่พระเจ้าอโศกทรงสร้างไว้เพื่อแสดงว่า สถานที่ตรงนี้เป็นที่ประสูติของพระพุทธองค์ และมีอักษรพราหม์บันทึกไว้ มีทั้งหมด ๕ บรรทัด อักษร ๙๐ ตัว แปลแล้วมีใจความดังนี้
 พระราชาปิยะทัสสี ซึ่งเป็นที่รักของเทวดา รดน้ำแล้วปีที่ ๒๐ ได้เสด็จมาด้วยพระองค์เองด้วยการเตรียมการใหญ่ เพราะว่าพระพุทธองค์เกิดแล้วที่นี่ว่า ศากยมุนี ได้กระทำการลีลาวิคฑภด้วย ให้ยกขึ้นแล้วซึ่งลีลาคัมภะด้วย เพราะภควันเกิดแล้วที่นี่ในลุมพินีคาม ให้เลิกเก็บภาษี ขอเก็บอยู่หนึ่งในแปดของผลที่ได้ และมีสระน้ำที่ใช้ชำระกายพระพุทธองค์หลังประสูติกาลแล้วแต่ต้องเดินไปอีก ๓๐๐ เมตร อากาศที่สวนลุมพินีเย็นสบาย สดชื่นมาก จึงไม่รู้สึกเหนื่อย เสร็จแล้วกราบลาสถานที่ นั่งรถบัสต่อไป รถรับจ้างที่นี้มีหลายยี่ห้อ  เช่น ซูซูกิ ฮุนได แต่ยี่ห้อ ทา ทา มากที่สุดแต่จะเป็นรถบรรทุกขนาดใหญ่ ฮอนด้านั้นจะเป็นรถส่วนตัวของคนค่อนข้างมีฐานะ เห็นมีป้ายแดงหลายคัน ทา ทา นั้นจะเป็นของคนมีเงินน้อยเพราะรถเก๋งจะมีราคาถูก ถ้าฟังไม่ผิดราคาไม่กี่หมื่นบาท โดยไม่ต้องเสียภาษี จะกลับอินเดียต้องผ่านด่านโสเนาว์ลีอีกครั้งเพื่อตรวจพาสปอร์ต ลาก่อนนะประเทศเนปาล มีโอกาสจะมาเที่ยวแคสเมีย
ชมภูเขาหิมาลัย
 เวลา ๑๐.๓๐ น. ผ่านด่านโสเนาว์ลีประเทศเนปาลเข้าสู่ประเทศอินเดีย แวะพักทานอาหาร ดื่มชา กาแฟ ที่ศูนย์การดูแลผู้แสวงบุญ ๙๖๐ บริหารงานโดยวัดไทยกุสินารา และวัดไทยลุมพินีเนปาล ห้องน้ำสะอาดชื่อห้องสุขาวดี เป็นห้องน้ำที่สวยที่สุดในดินแดนแถบสังเวชณียสถาน เป็นสถานที่สร้างมาจากความคิดดีๆ ของคนไทยที่คิดว่าควรมีสถานที่ปลดทุกข์ที่สวยงามและสะดวกสบายซักหนึ่งที่ระหว่างการเดินทางแสวงบุญ พร้อมทั้งเตรียมอาหาร เช่น ปาจาตี เป็นแป้งทอดรับประทานกับชา กาแฟ ทอดร้อนๆ ให้เราหยิบรับประทานตามความพอใจ คนทำปาจาตีเป็นชาวอินเดียยังหนุ่มๆ เป็นเด็กวัด และมีหญิงชาวไทยเป็นคนทอด ทานอาหารอิ่มแล้วเดินดูสินค้าที่ระลึกและพากันบริจาคเงินทำบุญเป็นค่าอาหาร ขึ้นรถเวลา ๑๑.๓๐ น. มุ่งสู่เมืองกุสินารา พอเข้าเขตอินเดียจะเห็นความไม่เป็นระเบียบเหมือนเนปาล เนปาลเขาจัดระเบียบได้ดีกว่าอินเดีย เช่น รถชนกันเขาไม่พอใจจะเผารถทิ้งเลยไม่พึ่งกฎหมาย ข้างทางเป็นสวนของรัฐบาลปลูกต้นสาละไว้มากมายสมัยเนรูห์เป็นนายก ต้นสาละคือต้นรังของไทยนั่นเอง ไม่ใช่ต้นสาละที่ปลูกตามวัดเป็นการเข้าใจผิดเห็นกับตาจึงเข้าใจ ข้างทางเห็นร้านขายเฟอร์นิเจอร์เกี่ยวกับลำไผ่ เอาไผ่มาจักสานนั่งทำขายกันข้างทาง มีหม้อดินวางขายข้างทางด้วย เห็นพระอาจารย์เล่าว่ามะขามป้อมของอินเดียลูกเท่ามะนาว พากันซื้อใหญ่พอกัดเข้าไปต้องทิ้งเพราะมีรสฝาด ต้องจิ้มเกลือหรือกะปิจึงอร่อย รถวิ่งถึงกุสินาราแล้ว ควรมารู้เรื่องเมืองกุสินารากันเล็กน้อย

ที่ตั้งเมืองกุสินารา

 กุสินารา เป็นเมืองที่พระพุทธเจ้าทรงเลือกเสด็จดับขันธปรินิพพาน ปัจจุบันตั้งอยู่ ณ ตำบลกาเซีย เมืองโครักขปูร์ รัชอุตตรประเทศ ประเทศอินเดียในปัจจุบัน ถ้ากล่าวถึงกุสินารานั้น หมายถึง สถานที่ปรินิพพานของพระพุทธองค์ ซึ่งเป็นสังเวชณียสถานที่สำคัญแห่งหนึ่ง ผู้มีศรัทธาควรไปทัศนาและเคารพสักการะ ซึ่งเป็นเหตุให้ไปสู่สุคติโลกสวรรค์ ไม่ตกสู่โลกอบายภูมิ ระยะทางจากโครักขปูร์ ๕๑ กม. จากพาราณสี ๒๘๐ กม. และจากกบิลพัสตุ์ใหม่ ๑๔๘ กม. คณะเราถึงสาลวโนทยานรีบตรงไปวิหารปรินิพพาน วิหารหลังนี้ตั้งอยู่ด้านหน้าพระสถูป รูปทรงบาตรคว่ำ ภายในมีพระพุทธรูปปางปรินิพพานขนาดใหญ่นอนเป็นพระประติมากรรมที่เปรียบเหมือนของจริงมากยาว ๗ เมตร มีอายุราว ๑๗๐๐ ปี สร้างโดยนายหริพลสวามีเป็นผู้บริจาคเงิน นายช่างชื่อว่านายทินะ ชาวเมืองมถุรา มีความสวยงามมาก คณะของเราพากันกราบไหว้ บางคนถึงกับร้องไห้น้ำตาไหล เหมือนได้เข้าเฝ้าพระพุทธองค์จริงๆ พากันปิดทอง ชาวจีนหรือญี่ปุ่นคนหนึ่งเป็นหญิงสาวสวยเอาแผ่นทองมายื่นให้ดิฉันปึกหนึ่ง ขอขอบใจมากดิฉันจึงเอาไปปิดและแผ่บุญให้เธอผู้นั้นด้วย หญิงสาวผู้นั้นเห็นดิฉันยืนดูคนอื่นๆ กำลังปิดทอง เธอคงคิดว่าดิฉันไม่มีแผ่นทอง จึงเอาแผ่นทองมายื่นให้ แต่ดิฉันได้เตรียมไปจากเมืองไทยแล้ว มันเป็นแผ่นทองแผ่นเล็กๆ เท่าหัวนิ้วโป้ง ทั้งหยาบและแข็ง ติดยาก ต้องใช้อุปกรณ์ช่วย เช่น ยาหม่องหรือเจลทาบริเวณที่จะติดเสียก่อน จึงจะติดอยู่ ดิฉันเห็นว่ายุ่งยากก็เลยไม่อยากติด ส่วนแผ่นทองที่เธอนำมายื่นให้นั้นเป็นแผ่นโตเท่าฝามือ เนื้อทองสุกปลั่ง ทั้งหนาและนุ่มมือ ติดง่ายโดยไม่ต้องใช้ตัวช่วยเลย เธอให้มา ๔ แผ่น ...สาธุ สวยทั้งกาย สวยทั้งใจ พร้อมทั้งถวายผ้าห่มให้พระองค์ด้วย รอบบริเวณปรินิพพานมีชาวพุทธมากมายกำลังทำพิธีของตนเอง มีชาวศรีลังกากลุ่มใหญ่กำลังประโคมดนตรีและสวดมนต์ทำพิธีตกแต่งดอกไม้สวยงามมาก คณะเราสวดมนต์นั่งสมาธิแผ่เมตตา เสียงสวดมนต์ชาวศรีลังกาเพราะมาก สังเกตจากการแต่งกายจะรู้ทันทีว่าเป็นชาติไทน คณะของพวกเราเดินประทักษิณแล้วพากันไปชม
มกุฏพันธนเจดีย์มกุฏพันธนเจดีย์ เป็นสถานที่ถวายพระเพลิง พุทธสรีระพระพุทธเจ้า ปัจจุบันมีชื่อท้องถิ่นว่า รามภาร์กาตีลา โดยตั้งเชิงตะกอนขึ้นในบริเวณมกุฏพันธเจดีย์ เมื่อถวายพระเพลิงแล้ว จึงก่อพระสถูปขึ้น ณ ที่ถวายพระเพลิง ปัจจุบันชาวบ้านเรียกสถานที่นี้ว่า รามาภาณ์ ในบันทึกของหลวงจีนถังซำจั่ง กล่าวไว้ว่า เป็นวิหารใหญ่หลังหนึ่งชื่อ มกุฏพันธนเจดีย์มีภิกษุอยู่ในวิหารนี้ ๑๐๐ รูป เสร็จพิธีกราบไหว้แล้วพากันกลับที่พักวัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ รอบบริเวณปรินิพพานสาลวโนทยาน มีวัดต่างๆ มากมายที่เป็นของชาวพุทธ ไปสร้างวัดไว้เช่นเดียวกับไทย เช่น ไทย พม่า ลาว เขมร สถานที่ปรินิพพานหรือสาลวโนทยาน ชาวพุทธพม่าเป็นพระดูแลสถานที่ ครั้งแรกชาวฮินดูเป็นผู้ครอบครองดูแล ชาวพม่าจึงได้เรียกร้องสิทธิ์คืน ขอให้ดูแลครอบครองโดยชาวพุทธ พม่าได้ขอร้องชาวไทยให้ช่วยกันเรียกร้องสิทธิ์ แต่ชาวไทยไม่มีใครสนใจ จึงไม่มีส่วนร่วมด้วย วันนี้เป็นวันเกิดตัวเองแต่คืนนี้โชคไม่ดีเลย ลื่นล้มตรงบันไดทางเข้าห้องน้ำ มันเป็น ๒ ขั้นแต่ดิฉันมองเห็นเป็นขั้นเดียว เจ็บข้อเท้าข้างขวามาก น้องปุ้มและคุณจูเป็นห่วงดิฉัน จึงเอายาทามาให้ ดิฉันนวดเองและรีบเข้านอน

วัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์
 ตั้งอยู่กึ่งกลางระหว่างสาลวโนทยานกับมกุฏพันธนเจดีย์ ห่างกันด้านละ ๕๐๐ เมตร ตั้งอยู่ในจังหวัดกุสินาคาร์ รัฐอุตตรประเทศ มีเนื้อที่ประมาณ ๑๔ ไร่ สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๗ โดยพุทธศาสนิกชนชาวไทย เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา เฉลิมพระเกียรติการครองสิริราชย์สมบัติครบ ๕๐ ปี และเฉลิมพระชนมพรรษาครบ ๖ รอบ โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช พระราชทานชื่อว่า “วัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์” วัดนี้พระเทพเสด็จมาวางศิลาฤกษ์ปี ๔๘ และมีคลินิกกุสินารา ๘ รูปี รักษาทุกโรค ปัจจุบันนายกอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ส่งหน่วยแพทย์พยาบาลมาคอยดูแลผู้แสวงบุญที่เมืองกุสินารา เป็นระยะเวลา ๖ เดือน ทานอาหารเย็นอิ่มแล้วจะไปทอดผ้าป่าที่ห้องรับแขก พบแม่ชีองค์หนึ่งชื่อแม่ชีลัดดาเข้ามาแนะนำตัวว่าเป็นคนจังหวัดแพร่ ถามดิฉันว่าอยู่ที่ไหน ดิฉันบอกว่าเป็นชาวอุตรดิตถ์ ได้เชิญว่าถ้ากลับประเทศไทยให้โทรหาด้วย แม่ชีลัดดาเป็นคนนิ่มนวล เรียบร้อยมาก ท่านเล่าว่าไปมาระหว่างอินเดียและเนปาล ประจำอยู่วัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ และวัดไทยลุมพินีประเทศเนปาล วัดที่คณะเราพักสวยมาก ได้บูชาพระเบบี้บุดด้ามา ๑ องค์ เห็นคุณแม่จันทีมีความสุขมาก ท่านบอกว่าสนุกมาก ไม่เคยสนุกและมีความสุขเช่นนี้มาก่อนเลย สังเกตเห็นหน้าตาสดชื่น แววตาสุกใสเหมือนเด็กที่ได้ของถูกใจ นายอาลาดินไปนิมนต์เจ้าอาวาสชื่อ ดร.ฉลอง มาเพื่อรักษาเท้าแพลงให้ดิฉัน อาลาดินเป็นคนนวดให้เจ้าอาวาส บอกวิธีให้ทำและพันผ้าเอาไว้หายปวดได้บ้าง พอเดินได้ เบื่ออาหารมาก ได้มาม่าต้มยำกุ้งจากประเทศไทยอร่อยมากทานกับผักสดๆ ที่วัดปลูกเอง ทุกคนในคณะถามเรื่องเท้าแพลง มีคนห่วงใยดิฉันทุกคน ขอขอบคุณมากค่ะ
 ดิฉันขอกราบขอบพระคุณพระอาจารย์ ดร.ฉลอง ไว้ในที่นี้ด้วย ท่านเป็นพระที่มีเมตตาสูง นายอาลาดินได้พร่ำพูดถึงความดีของพระอาจารย์ให้ฟังมากมาย ว่าเป็นพระอาจารย์ของเขา มีบุญคุณกับนายอาลาดินและอุปการะนายอาลาดินมาตลอด พระอาจารย์ ดร.ฉลอง มาอยู่อินเดียได้ ๒๐ ปีแล้ว พูดภาษาอินเดียได้คล่องและชัดเจน ท่านเป็นเจ้าอาวาสวัดไวสาลี ท่านรู้เรื่องเกี่ยวกับประเทศอินเดียมากมาย ท่านใจดีมีเมตตามาก

 ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓ วันที่ ๗ ของการแสวงบุญประเทศอินเดีย ตื่นนอนเวลา ๐๔.๐๐ น. ตามปกติ ทำธุระส่วนตัว นั่งนวดเท้าเพราะมีอาการบวมเจ็บ ชดใช้เจ้ากรรมนายเวรแล้วอย่าตามทำร้ายกันเลย ทางวัดกุสินาราได้เปิดเทปธรรมะสวดมนต์เป็นภาษาอินเดียเพราะมาก “บุดดัง สารนัง คัจฉามิ” แม้แต่เด็กขอทานสวดมนต์ได้ทุกคน ขอทานคือคนวรรณะจัณฑาล เป็นคนละวรรณะแต่งงานกัน ลูกออกมาจะเป็นวรรณะจัณฑาล คนจัณฑาลเขาไม่อายที่เขาเกิดมาเป็นจัณฑาล เขาภูมิใจในวรรณะของเขา เวลา ๐๖.๐๐ น. ทานอาหารเช้า เช้านี้อากาศดีมาก เย็นสบาย หมอกลงสวยงามมากเหมือนอยู่บนสวรรค์ ภายในวัดร่มรื่นเห็นแต่ความเขียวสดของต้นไม้ ปกคลุมด้วยสายหมอก เวลา ๐๘.๐๐ น. ขึ้นรถบัสมุ่งตรงเพื่อไปไวสาลี ออกจากที่พัก ต้องขนย้ายกระเป๋าเดินทางทุกวัน ต้องย้ายที่พักทุกวัน สวดมนต์ทำวัตรบนรถทุกวัน เพราะสังเวชณียสถานแต่ละแห่งอยู่ต่างที่ ต่างตำบล ต่างรัฐกัน ผ่านที่ประชุมเพลิงพระพุทธเจ้า คนขับรถลงไปกินชา = กาลังจายอย่างหน้าตาเฉย ปล่อยให้คณะของเรานั่งคอยบนรถ พระวิทยากรบรรยายไปเรื่อยอย่างอารมณ์เย็น คนขับขึ้นมาขับต่อ ข้างทางปลูกข้าวสาลีสลับต้นมัสตาด ถนนดีบ้างไม่ดีบ้างแต่ไม่เป็นอุปสรรคกับพวกเรา คงสนุกสนานกัน บางแห่งทางรัฐบาลอินเดียเอาหินมาโรยไว้เป็นช่วงๆ เพื่อให้รถยนต์วิ่งบดอัดให้แน่นก่อนแล้วจึงเอาปูนมาเทหรือลาดยาง เขาช่างไม่คำนึงถึงความสึกหรอของรถยนต์เลย เพราะประเทศอินเดียยากจน ขาดงบประมาณ
 เวลา ๑๔.๐๐ น. ถึงเมืองไวสาลี บ้างก็เรียกเวสาลี ไพสาลี เมืองไวสาลีห่างจากเมืองปัตนะ เมืองหลวงของรัฐนิหาร ประมาณ ๕๖ กม. เป็นเมืองใหญ่คนพลุกพล่าน มากด้วยผู้คน พระภิกษุณีเกิดที่นี่ คือพระนางปชาบดีโคตรมี มารดาเลี้ยงซึ่งเป็นน้าสาวได้บวชที่นี่พร้อมบริวารอีก ๕๐๐ คน ที่ป่ามหาวัน สระน้ำพระเจ้าสิจฉวีที่พระองค์ให้บริวารเอาลวดตาข่ายล้อมไว้ เพื่อเอาไว้อาบน้ำส่วนตัวปัจจุบันยังอยู่ และชมเสาอโศกที่ยังมีหัวสิงห์สมบูรณ์ สวดมนต์ทำวัตรเย็นสวดรัตนสูตร นั่งสมาธิ แผ่เมตตา เวลา ๑๖.๐๐ น. ออกจากป่ามหาวันไปชมสถูปปาวาที่เคยบรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า เห็นขบวนแต่งงานผ่านมาพอดี รถหยุดให้ดูเล็กน้อย เวลา ๑๖.๓๐น. เข้าพักวัดไทยไวสาลี บริเวณนั้นมีวัดนานาชาติสร้างอยู่ เช่น ไทย พม่า ญี่ปุ่น ลาว ญวน เขมร เวลา ๑๗.๓๐ น. ทานอาหารเย็นเสร็จแล้วถวายผ้าป่า มีภิกษุ ๓ รูป เณร ๘ รูป เณรเป็นชาวอินเดียทั้งหมด เจ้าอาวาสเล่าว่าเก็บเด็กขอทานมาบวช เวลา ๑๙.๐๐ น. ทอดผ้าป่าได้เงินมากว่าทุกวัด เจ้าอาวาสได้บรรยายเกี่ยวกับประเทศอินเดีย แต่พวกเราเพลียและง่วงกันมาก จึงจับใจความได้เล็กน้อยดังนี้ ศาสนาพุทธมารุ่งเรืองในอินเดีย ๓ ทางคือ
๑พวกบาลัว คือชาวพุทธดั้งเดิมรวมตัวกัน
๒พวกต่างชาติชาวพุทธ เข้ามาอินเดีย เช่น ไทย เกาหลี ญี่ปุ่น เขมร ลาว พม่า มาสร้างวัดกัน
๓ท่านทะไลลามะ หนีมาอยู่อินเดีย ท่านเนรูห์ อุปถัมย์ เป็นผู้นำทางจิตวิญญาณ

  ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓ วันที่ ๘ ของการแสวงบุญประเทศอินเดีย ตื่นนอนเวลา ๐๔.๓๐ น. เวลา ๐๕.๐๐ น. ได้ยินเสียงระฆังดัง คณะเราพักที่วัดไวสาลี ได้ยินเสียงเณรน้อยสวดมนต์ทำวัตรเช้าเสียงใสเพราะมาก เปิดประตูออกไปเห็นชาวอินเดียมายืนบ้าง นั่งบ้าง นอนอยู่ก็มี มาคอยพวกเราเพื่อจะยกกระเป๋าให้ อยู่บริเวณวัดโล่ง ไม่มีอะไรบัง พวกเขาคงหนาวมาก ชาวอินเดียนั้นรายได้เขาได้น้อย พระวิทยากรบอกว่า เงิน ๕๐๐ รูปี เขาสามารถเลี้ยงครอบครัวได้ทั้งเดือน เวลา ๐๖.๑๕ น. ทานอาหารเช้าเป็นข้าวต้ม มีทัวร์อื่นมาพักด้วย เจอกันทักทายกัน เพราะเป็นคนไทยและทานข้าวด้วยกัน อิ่มแล้วมานั่งชมทิวทัศน์ บริเวณวัดหมอกลงจัดมองไม่ค่อยเห็นอะไร สองคนกับคุณแม่จันทีสมมุติตัวเองว่าอยู่บนสวรรค์ มีหมอกเมฆลอยรอบตัว พักวัดก็สะดวกสบายดีเหมือนพักโรงแรม มีอาหาร มีเครื่องดื่มพร้อม ยังได้สวดมนต์ทำวัตรทอดผ้าป่าทำบุญทุกวัน กุ๊กทำอาหารในครัวเล่าให้ฟังว่า กบในวัดมีมาก ตัวหนึ่งหนักครึ่งกิโล จับมากินเป็นประจำ กบเป็นเทพเจ้าของชาวฮินดู วัดกำลังจะซื้อที่ดินอีก ๘๐ ไร่ ด้านหลังไว้ปลูกข้าวทำนา ด้านหลังวัดมีกบเป็นจำนวนมาก เวลา ๐๗.๑๐ น. ขึ้นรถเพื่อไปกรุงราชคฤห์ ปัจจุบันนับเป็นตำบลหนึ่งของจังหวัดนาลันทา อยู่ห่างจากเมืองนาลันทา ๑๓ กิโลเมตร ห่างจากพุทธคยาประมาณ ๘๐ กม. รถวิ่งมามองข้างทางเห็นบางบ้านกำลังทำกับข้าว บางบ้านนั่งจับกลุ่มผิงไฟกัน ต้องผ่านเมืองปัตนะซึ่งเป็นเมืองหลวงของรัฐพิหาร พระวิทยากรบอกว่ารถอาจจะติด มีแม่น้ำคงคาไหลผ่าน มีสะพานชื่อสะพานมหาตะมะคานที สะพานยาว ๕ กม. เป็นสะพานที่ยาวที่สุด ตามชายหาดปลูกกล้วย ข้าวโพด พืชผักต่างๆ ตามชายหาดมีเผาศพด้วย ขวามือเป็นเมืองปัตนะ มีห้างสรรพสินค้าใหญ่เป็นเมืองที่เจริญ เวลา ๐๙.๐๐ น. แล้วหมอกยังลงจัด สมัยพุทธกาลไม่มีสะพานจากไวสาลีมานาลันทา ต้องนั่งเรือข้ามแม่น้ำคงคา รถจอดข้างทางให้ทำภารกิจของทุกคน วิ่งลงไปในป่าถั่ว รถวิ่งต่อไปจนถึงจัดหมายที่พระพุทธเจ้าได้แสดงโอวาทปาฏิโมกข์ ตรงที่เรานั่งกันเคยเป็นที่นั่งของพระสงฆ์ ๑,๒๕๐ รูป ล้วนเป็นอรหันต์ทั้งสิ้น มาเฝ้าพระพุทธเจ้า พระวิทยากรได้นำกราบนมัสการและสวดโอวาทปาฏิโมกข์ เสร็จแล้วพาไปชมตโปธาราม
ตโปธเนที หรือตโปธาราม บ่อน้ำอันศักดิ์สิทธิ์ของชาวฮินดู ตโปธาราม สมัยพุทธกาลเป็นที่ขึ้นชื่อลือชาไปทั่วชมพูทวีป ว่าเป็นบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ มีสายน้ำอุ่นจากเขาเวภารบรรพต สามารถรักษาโรคภัยไข้เจ็บได้ จึงมีชาวเมืองใกล้ไกล แวะเวียนมาอาบน้ำกันที่นี่เป็นประจำไม่ขาดสาย เพราะถือว่าเดินทางมาพบพระพุทธเจ้าที่ประทับอยู่เวฬุวัน ซึ่งไม่ห่างไกลกันนัก เมื่อฟังพระธรรมได้โอสถรักษาใจแล้ว จึงมาอาบน้ำเป็นเภสัชรักษากายด้วย ปัจจุบัน ตโปธารามเป็นที่บูชาของชาวฮินดูไปแล้ว แบ่งชั้นให้ผู้มาอาบน้ำตามวรรณะ ใครที่ถูกกำหนดว่าเป็นชนวรรณะต่ำก็ต้องอาบน้ำที่เขาอาบกันมาแล้ว ชนวรรณะสูงอาบชั้นบน สำหรับเราชาวพุทธมาดูเพียงเพื่อระลึกถึงอดีตคราวที่พระพุทธองค์เคยเสด็จมาเทศนาที่นี่ และพระอริยสาวกได้มาสรงน้ำอุ่นในฤดูหนาวที่นี่ และเป็นการล้างบาปด้วย
มีแร่กำมะถัน เหล็ก ทองแดง และเรเดียม ซึ่งมีปริมาณมากอยู่ในน้ำเป็นประโยชน์ ในการรักษาโรคภัยไข้เจ็บหลายอย่างได้ดี เมื่อชมตโปธารามกันแล้วขึ้นรถแวะทานอาหารกลางวันก่อนขึ้นเขาคิชกูฏ เป็นอาหารกล่องทานอิ่มแล้วสั่งกาลังจายมา ๑ แก้ว และเดินชมอาหารของชาวอินเดียที่วางขายในร้านดูไม่ค่อยสะอาดเท่าไหร่ เป็นผู้ชายขายทั้งสิ้น คนเสริฟ คนตักแกง คนรับเงิน เป็นผู้ชายทั้งสิ้น อยากจะชิมอาหารอินเดียแต่ทางผู้นำทัวร์เขาห้ามว่าอย่ารับประทานเด็ดขาดท้องเสียแน่นอน เพราะคนไทยไม่ชินกับอาหารอินเดียและความสะอาดคงไม่มีเท่าไร สังเกตจากภาชนะที่ใส่ และเห็นชาวอินเดียมานั่งทานกันหลายคน เขาใช้มือเปิบเข้าปากอย่างอร่อย มีข้าวสวยราดแกงกะหรี่เหลืองๆ ล้างมือกันก่อนหรือเปล่าไม่รู้ อาลาดินผู้นำทางนั่งเปิบกับเขาด้วย บางคนสั่งปาจาตีเป็นแป้งกลมๆ ปิ้ง ใส่ถาดหลุมมา มีแกง ๒ อย่าง ใช้มือฉีกปาจาตีจิ้มแกงใส่ปากเคี้ยว ดูเขาคงอร่อยทำให้ดิฉันอยากชิมบ้างแต่กลัวท้องเสีย สักครู่อาจารย์ไพจิตรบอกว่าพร้อมแล้ว ขึ้นเขาคิชกูฏกันได้เลย เพราะร้านอาหารอยู่ทางขึ้นเขาคิชฌกูฏ พากันตามพระอาจารย์และหัวหน้าทัวร์ขึ้นเขา บางคนเดินไม่ไหว เช่น คุณมณีเธอเป็นคนสมบูรณ์ ได้เช่าเสลี่ยงนั่งมีคนหาม ๒ คน พวกเราแซวคุณมณีว่า “มหาราณี มหาราณี” ดิฉันขาเจ็บแต่ไม่ยอมนั่งอธิษฐานให้ขึ้นได้ จึงเช่าไม้เท้าจากเด็กที่คอยเดินบริการอยู่อันละ ๑๐ รูปี ไว้ยันเวลาเดินเพราะทางไกล บางช่วงชันสูง แต่เทปูนไว้อย่างดีทำเป็นบันได บางช่วงเป็นทางลาดเดินต้องระวัง เท้าข้างขวายังเจ็บอยู่
คิชฌกูฏ แปลว่า ภูเขานกแร้ง ที่เรียกอย่างนั้น เพราะในอดีตกาลเคยมีฝูงนกแร้งมาอาศัยอยู่ หรืออาจเรียกตามลักษณะภูเขาลูกนี้ ที่มีลักษณะคล้ายหัวนกแร้ง ภูเขาคิชฌฏูฏ พระพุทธองค์ไม่ได้เสด็จมาจำพรรษา เพียงแต่เสด็จมาประทับเป็นประจำทุกครั้งที่พระองค์เสด็จมากรุงราชคฤห์ เป็นสถานที่สงบและอากาศบริสุทธิ์เย็นสบาย ประกอบกับพระเจ้าพิมพิสาร ทรงเป็นองค์เอกอัครศาสนปถัมภก ทรงสร้างถนนเป็นชั้นบันได สำหรับพุทธองค์ดำเนินขึ้นลง เริ่มตั้งแต่มัททกุจฉิทายวัน จนถึงที่ประทับของพระพุทธองค์ บ่อยครั้งที่องค์พระมหากษัตริย์เองได้เสด็จขึ้นไปเฝ้าพระพุทธเจ้า เพื่อสนทนาปัญหาธรรมะ ฉะนั้นถนนสายนี้จึงนามว่า “ถนนพระเจ้าพิมพิสาร” ในกาลต่อมา เมื่อเราเดินไปสักครู่จะพบถ้ำซึ่งเป็นที่พักของพระมหาโมคคัลลานะ ถ้ำอันเป็นที่พักเพื่อสนองงานพระพุทธองค์ขณะประทับที่พุทธวิหารยอดเขาคิชฌกูฏ เป็นอัครสาวกเบื้องซ้ายของพระพุทธองค์ พวกเราพากันปิดทองและกราบนมัสการ เดินต่อมาอีกจะพบถ้ำที่ ๒ เป็นลานหินที่ส่วนบนมีหินก้อนใหญ่ชะโงกออกมา เป็นโพรงลึกเข้าไปพอหลบลมร้อน พักหลบฝนได้ ที่แห่งนี้เรียก “ถ้ำสุกรขาตา” หรือสุกรขาตเสนะ ซึ่งหมายถึง เพิงผามีรูปเหมือนคางหมู หรือถ้ำหมูขุด เป็นถ้ำที่พระสารีบุตรเบื้องขวาท่านสำเร็จอรหันต์ที่นี่

พระสารีบุตร หลังจากอุปสมบทแล้ว ในวันที่ ๑๕ ขณะที่กำลังถวายงานพัดให้พระพุทธองค์ ณ ถ้ำสุกรขาตา บนภูเขาคิชฌกูฏได้ฟังทีฆนขสูตร ที่พระพุทธองค์ทรงแสดงแก่ทีฆนขปริพาชก ผู้หลานชาย พระสารีบุตรได้ฟังแล้วจิตของท่านหลุดพ้นจากอาสวะบรรลุอรหันตผลในถ้ำสุกรขาตา พากันปิดทองในถ้ำสุกรขาตา และพากันเดินต่อไป
พบซากอิฐก่อฐานสี่เหลี่ยมติดกับหน้าผา เชื่อกันว่าเป็นที่พักของพระอานนท์ ยอดอุปัฏฐากของพระพุทธเจ้า ผู้ติดตามไปทุกแห่งหน ประดุจเงาตามตัว และได้รับการยกย่องจากพระบรมศาสดา ว่าเป็นเลิศทางพหูสูต ที่ทรงจำพระธรรมวินัย ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ไว้ได้ทั้งหมด ติดๆ กันนั้นเป็นมูลคันธกุฎี เป็นที่ประทับของพระพุทธเจ้า ซึ่งเสด็จมาประทับ ณ ยอดเขานี้เสมอ บริเวณที่ประทับเป็นกุฏิแคบๆ เหมาะที่จะนั่งมากกว่านอน วัดด้วยศอกได้กว้าง ๓ ศอก ยาว ๔ ศอก เท่านั้น เมื่อมาถึงยอดเขาคิชฌกูฏ ยืนอยู่ตรงกุฏิของพระพุทธองค์เหมือนกับตัวเองได้เข้าเฝ้าพระศาสดาอย่างใกล้ชิด คณะของเรานั่งลงและพากันสวดมนต์ทำวัตรเย็น นั่งสมาธิแผ่เมตตา กุฏิหลังนี้พระเจ้าพิมพิสารเป็นผู้สร้างถวายพระผู้มีพระภาคเจ้า มองจากยอดเขาคิชฌกูฏจะเห็นคุกที่คุมขังพระเจ้าพิมพิสาร ซึ่งพระราชโอรสของพระองค์เชื่อพระเทวทัตยุยง เพื่อแย่งราชสมบัติจากบิดาครอบครองเสียเอง เดินจากเบื้องล่างจนถึงกุฏิพระพุทธเจ้าใช้เวลาเดิน ๕๐ นาที ไม่เหนื่อย เดินช้าๆ เสร็จพิธีกรรมแล้วพากันเดินลงมาข้างล่าง มีคุณพี่ชวนชม อายุ ๗๑ ปี คอยเป็นห่วงดิฉัน คอยจะประคองช่วยเวลาเดินเพราะเห็นดิฉันเจ็บเท้า ดิฉันเกรงใจเพราะท่านอายุมากแล้วแต่ดูท่านยังแข็งแรงกว่าดิฉันมาก เดินคล่องแคล่ว เดินลงมาได้เล็กน้อยดิฉันลื่นล้มครั้งที่ ๒ คราวนี้เจ็บข้างซ้าย น้องต้อมที่เป็นลูกชายคุณธิดาเจ้าของทัวร์ มาประคองให้เดินจนถึงรถยนต์ที่จะพาไปนาลันทา เจ็บไม่มากเดินได้ เวลา ๑๗.๒๐ น. ถึงวัดนาลันทา
เมืองนาลันทา เส้นทางปัตนะถึงนาลันทา ระยะทาง ๙๐ กม. จากพุทธคยาถึงนาลันทา ระยะทาง ๑๐๐ กม. จากราชคฤห์ถึงนาลันทา ระยะทาง ๑๓ กม. ระหว่างทางจะผ่านหมู่บ้านสี่เหล่า เป็นหมู่บ้านที่ขายขนม “ขัทชา” หรือขนมขาชาที่คนไทยเรียก นักท่องเที่ยวจะแวะซื้อกันแต่คณะของเราไม่ได้แวะ เล่ากันว่าสมัยพุทธกาล มีเศรษฐีขี้เหนียวคนหนึ่งผ่านมาหมู่บ้านนี้ เห็นเขากินขนมขัทชาก็อยากกินบ้าง ความขี้เหนียวจะทำกินข้างล่างก็กลัวคนเห็นแล้วจะมากินด้วย จึงขึ้นไปทำบนปราสาทชั้นที่ ๗ พระพุทธเจ้าทรงเห็นว่า เศรษฐีและภรรยาจะสำเร็จมรรคผล จึงให้พระโมคคัลลาเหาะมาแสดงฤทธิ์ยืนอยู่ตรงหน้าต่าง ทรมานเศรษฐีจนใจอ่อนยอมถวายขนมนั้นแก่พระพุทธเจ้า และฟังธรรมจนสำเร็จโสดาปัตติผล บำรุงศาสนาจนสิ้นอายุขัย คณะเราเข้าพักที่วัดไทยนาลันทา นอนห้อง ๒๐๓ นอนกัน ๖ คน ในห้องมีเตียง ๖ เตียง เอากระเป๋าเข้าห้องแล้วจะไปทานอาหารกัน จากนั้นจะทอดผ้าป่า ที่นาลันทาอาการเริ่มร้อน ไม่หนาวเหมือนที่ไวสาลี วัดนาลันทาเป็นสาขาของวัดไทยพุทธคยา คืนนี้มีคนมาพักที่นี่ ๓๐๐ กว่าคน คงต้อนรับกันเหนื่อย เดินไปที่ห้องอาหารเห็นชาวอินเดียเป็นเด็กหนุ่มทั้งหมด ๖-๗ คน กำลังทำอาหารไทยอยู่ มีผัดผักและไข่เจียวเป็นหลัก วัดนาลันทานี้มีพระที่เป็นชาวอินเดียบริจาคที่ดินให้สร้างวัด มีรูปปั้นท่านอยู่หน้าโบสถ์ ทางวัดมีโครงการจะบวชพระและเณรชาวอินเดีย จำนวน ๓๐๐ คน มีโครงการจะสร้างกุฏิดินอีกหลายหลัง ยังทั้งจะจัดหาต้นไม้ทุกชนิดที่มีและกล่าวถึงในพุทธศาสนา ตามประวัติ ศาสนาพุทธในอินเดียล่มสลายเมื่อ พ.ศ.๑๗๐๐ โดนทำลายโดยชาวมุสลิม พึ่งมีการฟื้นฟูเมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๐ โดยสร้างวัดไทยคยาเป็นแห่งแรก ในประเทศอินเดียมีวัดไทย ๑๒ วัด ในประเทศเนปาล ๑ วัด
๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓ วันที่ ๙ ของการแสวงบุญประเทศอินเดีย ตื่นนอนเวลา ๐๔.๔๐ น. ทำธุระส่วนตัวเสร็จ คุยกันสนุกสนานตามประสาผู้หญิง เวลา ๐๕.๓๐ น. ได้ยินเสียงเณรน้อยชาวอินเดียสวดมนต์ ทำวัตรเช้าเพราะมาก ยกกระเป๋ามาไว้หน้าห้องตามปกติที่ทำทุกวัน เพื่อรอให้คนมายกไปขึ้นรถบัส เวลา ๐๖.๐๐ น. ลงไปทานอาหารเช้า บนโต๊ะมีแอปเปิลลูกเล็กๆ จัดใส่จานวางไว้ให้ทุกโต๊ะ หยิบมากัดลูกหนึ่งกรอบอร่อยมาก หวาน ลูกเล็กๆ ตอนแรกนึกว่าเป็นพุทรา แต่มีสีแดงจึงรู้ว่าเป็นแอปเปิล เช้านี้อากาศเย็นสบาย ข้อเท้าทั้งสองข้างหายเจ็บไปบ้างแล้ว เพราะฤทธิ์ยาหลายขนาน คนนั้นคนนี้เอามาให้ ขอขอบคุณทุกท่านที่กรุณาและเป็นห่วงเป็นใยดิฉัน คงชดใช้เจ้ากรรมนายเวรที่อินเดียหมดแล้ว อาหารเช้าเป็นข้าวต้ม และมีขนมขัทชาหรือขนมขาชา ที่มีกล่าวถึงในพระพุทธศาสนา ขนมนี้มี ๒ รส รสหวานและรสเค็ม เช้านี้มีแต่รสเค็ม ดิฉันทานดูแล้วรสชาติเหมือนๆ ขนมกรอมเค็มของไทยเรา แต่เนื้อแป้งจะนิ่มกว่า กรอบเค็มของเราค่อนข้างแข็ง ทานกับกาแฟอร่อยดี หน้าโบสถ์วัดนาลันทามีผึ้งมาทำรังมากมายระโยงระเยงไปหมด แต่ไม่เคยทำร้ายใคร ห้องน้ำของวัดสะอาดมากมีผู้หญิงชาวอินเดียคอยทำความสะอาดอยู่ ให้ทิปเขาไป ๒๐ บาท และมีผู้หญิงอีก ๒-๓ คนคอยเก็บถ้วยจานที่คณะเราอิ่มแล้วเพื่อนำไปล้าง พวกเขาต้องการค่าทิปเท่านั้น คณะของเราเต็มใจจ่ายค่าทิปกันคนละ ๑๐-๒๐ รูปี แต่เขาชอบเงินไทย คงไม่มีสามีเลี้ยงจึงต้องมาหางานทำเพื่อเลี้ยงครอบครัว เวลา ๐๘.๐๐ น. เตรียมขึ้นรถ เด็กขอทานมายืนออกันเต็มหน้าวัด ประมาณจำนวนดูคงเกือบ ๑๐๐ คน เห็นคณะพวกเราเดินขึ้นรถเตรียมวิ่งเข้ามาหา แต่พวกเราไวกว่ารีบขึ้นรถ เพราะมีมากเหลือเกินแจกไม่ไหว คณะของเราจะไปไหว้หลวงพ่อดำ เป็นพระที่ศักดิ์สิทธิ์ คนไทยและชาวอินเดียนับถือกันมาก ปลอดภัยไม่ถูกทำลายจากพวกมุสลิม แต่ไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้ ปางมารวิชัย
หลวงพ่อองค์ดำ เป็นพระพุทธรูปหินดำ ชาวไทยเรียกหลวงพ่อองค์ดำ ชาวอินเดียเรียกว่า เตลิยะบามา แปลว่าหลวงพ่อน้ำมัน เพราะทุกๆ วันจะมีชาวบ้านนำน้ำมันและน้ำนม พร้อมข้าวตอกดอกไม้มาบูชาและขอพรจากท่าน บางคนลูกหรือตัวเองเจ็บไข้จะเอาน้ำมันจากองค์หลวงพ่อดำมาทาที่ผู้ป่วย โรคที่เกิดจะหาย ปัจจุบันชาวบ้านช่วยกันดูแลรักษา รัฐบาลพยายามจะทำกำแพงปิดกั้นและยึดครอง แต่ชาวบ้านขัดขวางไม่ยอม รัฐบาลอินเดียจึงปล่อยให้เป็นของประชาชน จนถึงทุกวันนี้ หลังจากนั้นเดินทางไปชมมหาวิทยาลัยนาลันทา
มหาวิทยาลัยนาลันทา นาลันทาในครั้งพุทธกาลที่เคยรุ่งเรืองมานั้น ขณะนี้เหลือแต่อดีตที่เรียงไว้กับอิฐ หิน ปูน ทราย กอปรด้วยสิ่งปรักหักพังของมหาวิหาร ขุมทรัพย์ทางปัญญา ที่เคยรวมไว้ซึ่งสังฆาราม วิหารคลังตำรา ศาลาสาธยาย เวชศาลา กับที่พักพระสงฆ์ที่ใฝ่ศึกษามากถึง ๑๐,๐๐๐ รูป มีอาจารย์ถึง ๓,๐๐๐รูป มีพื้นที่นับร้อยๆ ไร่ มีโรงครัว ยุ้งฉางเก็บอาหาร บ่อน้ำขนาดใหญ่ ห้องสมุด หอพัก สถานที่ลงโทษ ห้องประชุม ที่ประกอบพิธีศาสนา และโรงฝึกงาน
พวกมุสลิมเข้ามาถึงมหาวิทยาลัยนาลันทา ประกาศไล่ให้ออกจากสถานที่ ใครไม่ออกก็ถูกฆ่าตาย เป็นการฆ่าอย่างทารุณ เอาขวานฟันสะพายแล่ง หรือฟันคอ มีนักศึกษาหลายคนที่ไม่ยอมหนีออกจากที่พัก ชาวมุสลิมจึงใช้วิธีเอาเชื้อไฟสุมที่ตรงประตูทางเข้า แล้วเผากุฏิทั้งหลัง เป็นวิธีคอกให้ตายในกองไฟ ผลคือพระภิกษุตายคาผ้าเหลืองไปหลายร้อยองค์ จากนั้นก็ลงมือพังกุฏิ สังฆาราม สำนักศึกษา และที่ประชุมทั้งหมด เทวรูป พุทธรูป และตำราหลายร้อยหลายพันเล่ม ถูกขนออกมาเผา พร้อมทั้งวางเพลิงมหาวิทยาลัยให้มอดไหม้อยู่ ๖ เดือน จึงสิ้นซาก ความผันผวนทางการเมือง มหาสังฆมณฑลแห่งนาลันทาได้ถูกทำลายไป เป็นผลให้ปัจจุบันคงเหลือแต่ซากปรักหักพัง ที่ยังสะท้อนร่องรอยของความยิ่งใหญ่ในอดีตไว้เป็นอนุสรณ์แก่ชนรุ่นหลังเท่านั้น ปัจจุบันเหลือเนื้อที่ ๘๐ ไร่ พากันสวดมนต์และนั่งสมาธิ 1 ชม. และกล่าวคำบูชานาลันทามหาวิหาร นาลันทาเป็นที่เกิดของพระสารีบุตร มาโปรดมารดาจนสำเร็จอรหันต์ เวลา ๑๑.๓๐ น. ทานอาหารกลางวัน เป็นมาม่าต้มยำกุ้ง ทางบริษัททัวร์เขาเตรียมไปสำหรับคนที่ต้องการเมื่อเบื่ออาหารที่จัดให้ ที่วัดนี้มีผู้หญิงอินเดียมาช่วยขนกระเป๋าหลายคน กระเป๋าใบใหญ่แค่ไหนเขาจะวางไว้บนศีรษะเดินแบบสบายๆ ถ้าเป็นเราคงคอหักแน่ ขอทานส่วนใหญ่จะตามตื้อตามขอแต่คนไทย ชาติอื่นไม่ขอเพราะเขาไม่ให้ สุภาษิต “คนไทยชอบแจก แขกชอบขอ” เวลา ๑๓.๐๐ น. ขึ้นรถบัสเพื่อไปคยา ผ่านเขาคิชฌกูฏ เขาเบญจคีรีโอบล้อมกรุงราชคฤห์ รัฐบาลกำลังฟื้นฟู
กรุงราชคฤห์ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว ผ่านสะพานข้ามแม่น้ำเนรัญชลาถึงที่พักที่คยา เวลา ๑๕.๓๐ น. เข้าพักที่เกสท์ โฮรี่แลนท์ เป็นสถานที่ที่พระชาวพม่าดูแล แล้วทำเป็นที่พักของคณะแสวงบุญชาวพุทธทุกชาติต่างพากันมาพัก ขณะที่คณะเราเข้าพักเขากำลังก่อสร้างที่พักเพิ่ม ทำให้มีฝุ่นมาก ห้องไม่สะอาดเท่าที่ควร เตียงนอนเหมือนไม่ได้ทำ คนงานก่อสร้างมีทั้งหญิงและชายชาวอินเดีย ผู้หญิงอินเดียนุ่งห่มสาหรี่ทำงานขนทรายขนปูนดูรุ่มร่ามจัง เวลา ๑๗.๓๐ น. เดินไปทานอาหารที่วัดไทยพุทธคยา ซึ่งอยู่ใกล้ๆ ที่พัก ที่วัดไทยพุทธคยามีชาวพุทธไทยมาพักเป็นจำนวนมาก พบคนจังหวัดอุตรดิตถ์ด้วย ทักทายกันเล็กน้อย อิ่มแล้วไปเดินช้อปปิ้ง
วัดไทยพุทธคยา พระอุโบสถสวยงามเป็นสง่า เป็นหน้าตาของชาวไทย ได้จำลองแบบมาจากอุโบสถวัดเบญจมบพิตร ภายในพระอุโบสถมีพระพุทธชินราชจำลองแบบมาจากจังหวัดพิษณุโลก สร้างถวายโดยจอมพลถนอม กิตติขจร ชื่อว่า พระพุทธธรรมิศรชมพูทีปนิวัติสุโขทัย และที่ฝาผนังภายในอุโบสถเป็นภาพวาดสังเวชณียสถานและประวัติพระมหาชนก สวยงามมาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เป็นผู้ประทานภาพเหล่านี้มาให้ มีนายช่างสาคร โสภา และทีมงานเป็นผู้วาด

๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓ วันที่ ๑๐ วันสุดท้ายแห่งการแสวงบุญ ตื่นนอนเวลา ๐๔.๐๐ น. ปฏิบัติภารกิจส่วนตัว นั่งจดบันทึกเมื่อวานนี้ตอนทานอาหารเย็น น้องหญิงหัวหน้าทัวร์ได้ถามความสมัครใจ ว่าใครจะไปทำสมาธิปฏิบัติเนสัชชิกตลอดคืนบ้าง “เนสัชชิก” คือการไม่นอนหรือนั่งเอาหลังถูกสิ่งใดๆ ให้กระทำได้ คือ การยืน เดิน นั่ง จะหลับก็ได้ให้อยู่ใน ๓ อิริยาบถนี้เท่านั้น ห้ามนอนเอาหลังถูกพื้น มีผู้สมัครไป
๔-๕ คนเท่านั้น เพราะมีแต่ผู้สูงอายุและกลัวยุง ยุงที่นี่ชุมมากและตัวโต ไปปฏิบัติที่ลานโพธิ์พุทธคยา ตรงที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้อนุตตรสัมโพธิญาณ ทางพุทธคยาเขาจะปิดประตูเวลา ๒๑.๐๐ น. เปิดให้ออกได้เวลา ๐๔.๐๐ น. ต้องมีเครื่องป้องกันยุง เช่น มุ้งครอบสำหรับนั่ง หรือหมวกที่เป็นมุ้งคลุมเวลานั่ง และเสื้อผ้าป้องกันความหนาวเย็น มีคนพูดว่าจะไปตอนตี ๔ ที่เขาเปิดประตู สามารถเดินไปได้จากที่พักไปลานโพธิ์พุทธคยา หรือนั่งสามล้อได้ในราคา ๑๐ รูปี ทานอาหารเช้าที่วัดไทยพุทธคยา เดินไปห่างจากที่พักนิดเดียว ดูอาหารแล้วคืออาหารเก่าเมื่อวานเย็นคงเหลือเอามาให้ทานอีก ที่พักก็ไม่ดี  อาหารไม่ดี คงส่งท้ายพวกเรา พออาหารเก่าหมดทางโรงครัวได้ทำอาหารใหม่ออกมาอีก คนมาทีหลังโชคดีได้อาหารใหม่ พบคนไทยหลายร้อยคนมาพักที่วัดไทยพุทธคยา ได้พูดคุยกันมาจากที่ต่างๆ หลายจังหวัด ทางทัวร์ของคณะเราได้จองวัดไทยพุทธคยาเหมือนกัน แต่จองไม่ได้เพราะมีคนจองก่อนตั้งแต่สามเดือนมาแล้ว พบคนดีก็ดีมากๆ  เช่นคุณพี่ชวนชม และอีกหลายๆ คน ที่เป็นห่วงเรื่องการเจ็บข้อเท้าของดิฉัน วันนี้อาการดีขึ้น เดินได้สะดวกขึ้น วันนี้อากาศเย็นสบายเหมือนอยู่ในห้องแอร์ ดอกไม้ในวัดไทยพุทธคยาดอกโตสวยงาม ดอกโตจนก้านหัก เวลา ๐๗.๔๐ น. พากันเดินไปจากวัดพุทธคยา เพื่อไปลานโพธิ์ ไปถึงแล้วพระอาจารย์ไพจิตรพาเดินเวียนประทักษิณสามรอบ และติดทองนั่งสมาธิทำจิตสงบ แต่คนมากเหลือเกิน ทุกชาติทุกภาษาที่เป็นพุทธศาสนิกชน หลั่งไหลมารวมตัวกันที่นี่ กราบนมัสการลานโพธิ์เพื่อลากลับไทย แหล่งช้อปปิ้งอยู่หน้าพุทธคยา พวกเรา ๕-๖ คน เดินซื้อของฝากคนทางบ้าน ได้ของมากมายจ่ายไปไม่กี่พันบาท เพราะของถูกมากแต่ต้องต่อมากๆ ของสวยน่าซื้อทั้งนั้น กิเลสเกิดตลอดเวลา ซื้อของแล้วพากันเดินกลับมาที่พัก จัดเก็บกระเป๋า กระเป๋าใส่ของแน่นมากใส่ไม่หมด ต้องเอาของที่เหลือใช้บริจาคให้คนงานก่อสร้างหญิงชาวอินเดีย เธอรับของแล้วแสดงอาการดีใจมาก เก่าสำหรับเราใหม่สำหรับเธอผู้นั้น ราคาของอินเดียนั้นต้องต่อราคาให้มาก เช่นเขาบอก ๑๐๐ รูปีหรือบาท ให้ต่อเหลือ ๓๐ บาทเท่านั้น มาอินเดียต้องอดกลั้นอดทน ขันติต้องมีให้มาก แต่คุณแม่จันทีดูท่าทางไม่อยากกลับประเทศไทยเลย ดูท่านมีความสุขมาก ซื้อของฝากคนอื่นแล้วได้ซื้อของให้ตัวเองเป็นสร้อยคอหินสีแดงสลับเงิน ราคา ๕๐๐ บาท และหินสลับสีต่างๆ ราคา ๓๕๐ บาท ผ้าห่มขนจามรีราคา ๑,๐๐๐ บาท แต่ซื้อมาจากวัดต่างๆ ที่ไปพัก ที่พุทธคยาไม่มี ซื้อสร้อยที่เนปาล ผ้าห่มซื้อที่วัดไทยมคธ แม่ชีเอามาขายให้ แม่ชีเตือนว่าซื้อของให้ระวังแขกจะหลอกเอา แม่ชีบอกว่าสงสารคนไทยโดนแขกหลอก แต่ของราคาถูกต่อมากๆ โดนหลอกไม่เป็นไร เงินรูปีเวลาแลกจะมาอินเดีย ๑,๐๐๐ รูปี เป็นเงินไทย ๘๐๐ บาท เวลาจะกลับแลกคืนเงิน ๑,๐๐๐ รูปี ได้เงินไทยคืนแค่ ๗๐๐ บาท ไปอินเดียอย่าแลกเงินรูปีมาก ในอินเดียใช้เงินไทยได้แขกชอบเงินไทยมากกว่ารูปี มาแสวงบุญอินเดียจะเก็บแต่สิ่งดีๆ เท่านั้น สิ่งไม่ดีเช่นโรคภัยไข้เจ็บ ขอทิ้งไว้ที่ประเทศอินเดีย เอาสุขภาพแข็งแรง ความโชคดีกลับ
เวลา ๑๔.๓๐ น. นำกระเป๋าวางไว้หน้าห้อง ซึ่งจะมีคนมายกไปขึ้นรถบัสให้ เวลา ๑๕.๐๐ น. เตรียมขึ้นรถไปสนามบินแห่งชาติคยา เวลา ๑๘.๑๐ น. ออกเดินทางกลับเมืองไทย โดยสายการบินอินเดีย แอร์ไลน์ เที่ยวบิน IC๗๒๙ ขึ้นเครื่องแล้วหาที่นั่ง นั่งติดกับน้องปุ้ม เขานั่งด้านหน้าหันมาคุยกัน นินทาแอร์โฮสเตสกัน ทำไมแก่จัง อายุคง ๕๐ ปี ดำด้วย หน้าไม่ยิ้มเลย เวลาเสริฟอาหารเหมือนไม่เต็มใจ เสริฟอาหารเย็นมีข้าวสวยกับแกงกะหรี่ไก่ มีแตงกวา แครอทมาแกล้ม มันบดหรืออะไรไม่รู้ ๑ ก้อนหยาบๆ น้ำส้ม ๑ แก้ว น้ำเปล่าขวดเล็ก ๒ ขวด กาแฟ ๑ แก้ว การบริการไม่ดีเหมือนสายการบินไทยหรือจีน หรืออียิปต์ หน้าพวกเขาจะยิ้มดี ไม่บึ้งตึงหรือเฉยชา ตอนดิฉันไปปักกิ่งกับลูกสาวเมื่อต้นปี ๕๒ ใช้บริการแอร์อียิปต์ดี สจ๊วตตัวใหญ่ หนวดเฟิ้มยิ้มทักทายทุกคน แอร์โฮสเตสสาวสวยคมขำแบบแขกขาว น้องหญิงลูกสาวคุณธิดาเจ้าของทัวร์ มาถามดิฉันว่าถึงเมืองไทยแล้วจะพักโรงแรมหรือ ดิฉันตอบว่าจะพักโรงแรม เขาเป็นห่วงมากขอให้ไปพักที่บ้านเขา หญิงบอกว่าแม่โทร.มาว่าได้จัดห้องให้แล้ว ซึ้งในน้ำใจเขามาก สวยทั้งน้ำใจและกิริยาท่าทาง สวยนอกสวยใน หลายคนบอกให้นอนบ้านน้องหญิง ดิฉันจึงตอบตกลง ถึงสนามบินสุวรรณภูมิเวลา ๒๒.๕๐ น. เวลาประเทศไทย เสร็จจากสนามบินพากันขึ้นรถแท็กซี่กลับ ๔ คน มีน้องหญิง เพื่อนปุ้มที่เป็นลูกทัวร์ไปเที่ยวด้วย กลับด้วยกันลงจากเครื่องบินอาเจียนเพราะอาหารเป็นพิษ ท้องเสียด้วยจึงชวนไปนอนด้วยกัน ปุ้มและเพื่อนๆ แยกไปทานอาหารอินเดียตอนกลางวัน ตอนอยู่อินเดียก่อนขึ้นเครื่อง ถึงบ้านน้องหญิง คุณธิดาและสามีออกมาต้อนรับเป็นอย่างดี ขอขอบคุณ ณ ที่นี้ด้วย เขารวยทั้งทรัพย์ รวยทั้งน้ำใจ เขาทำทัวร์คนจึงติดใจบอกปากต่อปาก คุณธิดายังสอนลูกๆ ให้เป็นคนดีด้วย ช่วยเหลือเอื้อเฟื้อหลายๆ อย่าง หายา หาน้ำให้น้องหญิง เพื่อนของปุ้มที่ไม่สบาย คุณธิดาเข้ามาคุยด้วยในห้องจนเกือบตี ๑ ดิฉันจึงขอตัวอาบน้ำ และคุณธิดาจะไปธุระเมืองกาญจนบุรีตอน ๐๖.๓๐ น. วันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓ น้องหญิงเพื่อนปุ้มอาเจียนอีกจึงให้ทานยา และดื่มเกลือแร่ แล้วก็หลับไป ดิฉันห่มผ้าให้ จับหน้าผากดูไม่มีไข้ ความเหนื่อยและเพลียดิฉันจึงเผลอตัวหลับสนิท ตกใจเสียงเคาะประตูตื่นเวลา ๐๘.๓๐ น. ลูกสาวคุณธิดาชื่อน้องปาร์ค อายุ ๑๔ ปี เรียนอยู่ ม.๒ มาเรียกให้ทานข้าวต้ม เพราะคุณธิดาได้บอกไว้ตั้งแต่เมื่อคืนแล้ว จะต้มข้าวต้มกุ้งทิ้งไว้ให้ ส่วนตัวเธอจะไปกาญจนบุรี น้องหญิงเพื่อนของปุ้มอาการไม่ดีขึ้นเลย ทานข้าวต้มกันแล้วเตรียมตัวจัดกระเป๋าเพื่อขนย้ายออกจากบ้านคุณธิดา น้องปาร์คคงได้รับคำสั่งจากแม่เขาเรื่องดูแลแขกที่มาพัก เธอตักข้าวต้มให้และตามรถที่จะไปส่งดิฉัน น้องหญิงไม่สบายมากต้องลงที่โรงพยาบาลเมโย ส่วนดิฉันไปพบสามีที่ซอยทองหล่อ ๕๕  ถนนสุขุมวิท พบสามีและลูกชายคนโต พร้อมลูกสะใภ้มาด้วย สามีดิฉันหมอนัดมาทำฟันที่คลินิกอัสวานันท์ เสร็จแล้วกลับอุตรดิตถ์โดยสวัสดิภาพ
ดิฉัน บุญรวย กิจชัยเจริญ ผู้เขียนและเรียบเรียงเรื่องนี้ ต้องขออภัยท่านผู้อ่าน ดิฉันอาจจะเขียนวกวนสับสนไปบ้าง เขียนตามพระวิทยากรบรรยายบ้าง จากการค้นคว้าตามตำราบ้าง ตามความคิดเห็นของดิฉันเองด้วย ปัจจุบันดิฉันอายุ ๖๗ ปี ถ้าไม่ถูกต้องขอรับผิดแต่เพียงผู้เดียว

บุญรวย  กิจชัยเจริญ
ผู้พิพากษาสมทบศาลจังหวัดอุตรดิตถ์
     แผนกคดีเยาวชนและครอบครัว
   1 เมษายน 2553