---

เข้าสู่พรรษาที่ 11
           กลับคืนสู่ผืนป่า แดนอีสานถิ่นกำเนิด กับวัฒนธรรมชนบทดั้งเดิมของชาวอีสาน ที่ยังพอมีหลงเหลืออยู่

---

เช้าวันนี้ (23 กรกฎาคม 2556)

              กุฏิมุงหญ้าคากลางป่าไม้ผสมที่ปลูกมาแล้ว 13 ปี  บนเนื้อที่กว่า 300 ไร่ วันนี้เป็นวันแรกของการจำพรรษาของพระภิกษุ ตามภาษาที่สังคมไทยชาวพุทธนิยมเรียก เวลาตี 4 เสียงฆ้อง เสียงกลอง เสียงระฆัง ดังขึ้นพร้อมกันจากวัดต่างฯรอบทิศ เป็นเสียงที่แสดงว่าได้เวลาแล้วที่พระภิกษุสามเณรทำวัตรสวดมนต์ยามเช้า เป็นเวลาหลายปีแล้วที่ได้เดินธุดงค์ท่องเที่ยว จาริกไปตามป่าเขาลำเนาไพรภาคต่างฯของเมืองไทย เมื่อกลับมาอีกครั้งเสียงสัญญาณที่ดังมาจากวัดต่างฯยังมีอยู่เหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง เป็นมนต์เสน่ห์วัฒนธรรมของชาวอีสานที่ยังมีอยู่ในยุคปัจจุบัน
              กุฎิกลางป่าไม้ผสมที่อาศัยอยู่นี้ อยู่ท่ามกลางระหว่าง 5 หมู่บ้าน และ 3 ตำบล แต่ละหมู่บ้านที่อยู่โดยรอบมีวัดประจำทุกหมู่บ้าน เป็นสถานที่ที่ชาวบ้านพากันมาทำบุญตักบาตร กับหลวงปู่หลวงพ่อหลวงตาพระหนุ่มสามเณรน้อย ถือเป็นการสร้างคุณค่าให้ชีวิต เป็นอาหารทางจิตใจของชาวพุทธตามประเพณีนิยม ที่ถือปฏิบัติตามกันมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ เมื่อวานนี้เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา คือวันอาสาฬหบูชา  ณ ศาลาที่หลวงปู่อุทัยได้ร่วมกับชาวบ้านสร้างไว้ในพื้นที่แห่งนี้เมื่อ 6 ปีก่อน ได้ใช้เป็นที่บำเพ็ญบุญกุศล และทำวัตรสวดมนต์เช้าเย็น ได้มีพ่อใหญ่ (ภาษาอีสานบ้านเฮา) มาร่วมทำบุญตักบาตรจำนวน 6 คน ซึ่งล้วนเป็นเพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกับโยมพ่อของอาตมา ที่เสียชีวิตไปแล้วเมื่อ 2 ปีก่อน จำนวน 6 คน ถือว่ามากหากเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านฯมา อีกทั้งพ่อใหญ่ดังที่กล่าวมานั้นได้ร่วมทำวัตรสวดมนต์เช้า-ทำวัตรสวดมนต์เย็น และจำศีลภาวนานอนที่ศาลา 1 คืน ถึงแม้จะเหลืออยู่ 4 คนก็ตาม

เส้นทางบิณฑบาตร เดินลัดตามคูคันนา ระยะทาง 4 กิโลเมตร

เช้าวันที่ 26 กรกฎาคม 2556

         เมื่อคืนเวลาประมาณ 6 ทุ่มกว่าฯ ขณะกำลังหลับสนิทอยู่ ต้องสะดุ้งตื่นขึ้นมา เมื่อรู้สึกว่ามือขวาโดนสัตว์ชนิดหนึ่งกัดเข้าอย่างจัง รีบออกจากกรดฉายไฟฉายส่องดูที่มือบริเวณที่โดนกัดเห็นว่ามีรูเขี้ยวอยู่ 4 รู เลือดไหลออกตามรูไม่มาก แต่รู้สึกปวดชาตามบริเวณที่โดนคงจะเป็นสัตว์มีพิษ (คิดในใจว่า เอ..จะเป็นงูหรือเปล่าหว่า) จึงใช้มืออีกข้างหนึ่งที่ไม่ปวดสลัดผ้าห่มดู ว่าจะเป็นสัตว์อะไร ... แล้วในที่สุดจึงเห็นและทราบว่าคือตะขาบนั่นเอง แต่ก็ไม่ทราบว่าเขาอายุได้กี่ปีกี่เดือนแล้ว รู้แต่ว่าเขากำลังอยู่ใน "วัยน่ารักน่าชัง" เลยทีเดียว.
         ขณะนั้นคิดถึงคำสอนของพระอาจารย์ว่า หากเป็นแผลเจ็บปวดทางกายจงกำหนดสติให้รู้ว่าเจ็บปวดเฉพาะทางกาย อย่าให้ลุกลามไปถึงใจ เวลาผ่านไปเรื่อยฯในคืนนั้น พร้อมกับปฏิบัติตามคำสอน แล้วในที่สุด.. ก็หลับสนิทลงจนได้.

พระพุทธเจ้าตรัสเป็นปัจฉิมโอวาท ครั้งสุดท้ายว่า...  “ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ เราขอเตือนท่านทั้งหลาย สังขารทั้งหลายมีความเสื่อม ความสิ้นไปเป็นธรรมดาท่านทั้งหลาย จงบำเพ็ญไตรสิกขา คือศีล สมาธิ ปัญญา ให้บริบูรณ์ด้วยความไม่ประมาทเถิด”

รวมภาพ การเกิดเฮือนน้อย การตั้งอยู่ สู่การแปรเปลี่ยน ตามอำนาจการทำงานของสังขาร แล้วจะสู่ความเสื่อม และดับไปเรื่อยฯ

ภาพวันที่2กรกฎาคม2556
หลังจากฉันเช้า และล้างบาตร

ภาพวันที่3กรกฎาคม2556
ตากจีวรกับธรรมชาติที่แท้จริง

ภาพวันที่11กรกฎาคม2556
ตัดสินใจเริ่มเล่นเฮือนน้อย

ภาพวันที่ 14 กรกฎาคม 2556
คืนแรกกับธรรมชาติ แบบ "diaryboon"

ภาพวันที่ 15 กรกฎาคม 2556
พระอรหันต์ (โยมแม่) นั่งคอยดูงานใต้ชายคา

ภาพวันที่ 15 กรกฎาคม 2556
จิตวิณญาณของพระอรหันต์ (โยมแม่) ยืนดูงาน

ภาพวันที่ 19 กรกฎาคม 2556
ครั้งแรกในชีวิต กับอิฐ หิน ปูน ทราย

ภาพวันที่ 24 กรกฎาคม 2556
งดงามแบบธรรมชาติ กับการเล่นเฮือนน้อย

ภาพวันที่ 24 กรกฎาคม 2556
"อัตตาหิ อัตตโนนาโถ ตนแลเป็นที่พึ่งแห่งตน"

วันที่ 24 กรกฎาคม 2556
ห้องน้ำที่สุดแสนคลาสสิค และยอดเยี่ยมสุดฯ

วันนี้ 7 สิงหาคม 2556
เริ่มมีลวดหนามล้อมเฮือนน้อย ในป่าใหญ่

ปัจจุบันวันนี้ 7 สิงหาคม 2556
เกิดขึ้นแล้วข้างฝา และหลังคาที่มุงห้องน้ำ
ประสบการณ์ก่อนมาถึง