วันที่ 6 ตุลาคม 2563

                  เวลา 09.12 น. วันนี้ เลขาเจ้าคณะอำเภอศรีสมเด็จ จังหวัดร้อยเอ็ด ได้โทรศัพท์ติดต่อมาเพื่อให้ไปประชุมที่วัดบ้านอ้น ซึ่งมีเลขาเจ้าคณะจังหวัดร้อยเอ็ดเป็นเจ้าอาวาส  จึงได้นำรถไฟฟ้ามาล้างโคลนออก และชาร์จไฟเตรียมเดินทาง  เวลา 13.00 น. เป็นเวลาเริ่มประชุม  ตลอดแปดพรรษาที่วัดป่าดงยางแห่งนี้ วันนี้จึงเป็นวันที่ได้ไปประชุมเป็นครั้งแรก  ระยะทางไปกลับ 30 กิโลเมตร มองเห็นตัวช่วยคือรถไฟฟ้าเท่านั้น

                  สาระการประชุมวันนี้คือเรื่องที่พักสงฆ์ สำนักสงฆ์ที่ยังไม่ถูกต้องตามกฏหมาย สามารถดำเนินการให้ถูกต้องได้แล้วและวิธีดำเนินการ ก็ได้อธิษฐานไปด้วยว่า "สาธุ สาธุ สาธุ เจ้ารถไฟฟ้าคู่ใจเอ๋ย เจ้าอย่าน้ำมันหมดระหว่างทางนะ" และหวังว่าคำอธิษฐานนั้นจะเป็นความจริง

เตรียมล้างโคลนตมกำลังชาร์จไฟกำลังเติมน้ำมัน

                  เทศกาลออกพรรษาผ่านพ้นไปอีกหนึ่งปี  แต่ชีวิตก็ยังคงดำเนินต่อไป ตามบุญตามกรรมตามโอกาสของแต่ละคน ที่ได้บำเพ็ญไว้ซึ่งมีมากน้อยแตกต่างกันไป  การก่อสร้างโรงครัวที่วัดป่าดงยาง ได้เวลาต้องหยุดพักไว้ก่อนตามกำลังเงิน  งานก่อสร้างโรงครัวครั้งล่าสุด เริ่มวันที่ 23 กันยายน 2563 ถึงวันที่ 4 ตุลาคม 2563  รวมค่าวัสดุและค่าแรงช่างที่จ่ายไปแล้วทั้งสิ้น 53,490 บาท

                  เช้าวันที่ 4 ตุลาคม 2563 แม่เต็ม มงคลสวัสดิ์ ได้นำรถคันใหม่มาเจิมที่วัดป่าดงยาง  พิธีเจิมเริ่มขึ้นด้วยการพาเจ้าอาวาสนั่งรถเข้าเมืองซื้อสีสำหรับทาหลังคาโรงครัวหนึ่งกระป๋อง ซื้อยาสีฟัน จบลงด้วยการที่แม่เต็มเป็นเจ้าภาพ ถวายเตียงพับได้1ตัว, ค่าใช้จ่ายต่างๆที่ซื้อ, และถวายเงินจำนวนหนึ่ง

หยุดพักไว้ก่อนแม่เต็ม - แม่จิตเจิม(นั่ง)รถคันใหม่

                  บ่ายวันที่ 4 ตุลาคม 2563  หลังจากแม่เต็ม-แม่จิตกลับไปแล้ว  ความปรารถนาต้องการให้โยมแม่คำดี ศรีมงคล (แม่เจ้าอาวาส) มีชีวิตใหม่ที่สดใสกว่าเดิม สามารถเดินทางไปที่ต่างๆตามปรารถนาได้ ก็เริ่มขึ้น  รถวิลแชร์ไฟฟ้าคือตัวช่วย ช่วยทดแทนความชราภาพของร่างกายที่อายุแปดสิบกว่าแล้วให้มีความสะดวกยิ่งขึ้น สามารถขับรถไปไหนมาไหนเองได้  เป็นความสุขอย่างยิ่งที่ได้ดูแลคุณแม่เช่นนี้

กำลังหัดขับรถแม่คำดี - หลานชายมือใหม่หัดขับ
ขับรถหนีฝนฝนกำลังมาแล้วแล้วฝนก็ตกหนัก

                  วันที่ 2 ตุลาคม 2563  วันออกพรรษา มีคณะแม่ศีล คณะศรัทธาญาติโยมมาร่วมทำบุญตักบาตร  ตามประเพณีวัฒนธรรมอันดีงามของชาวพุทธที่ถือปฏิบัติสืบต่อกันมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษจนถึงยุคปัจจุบัน  สัจจธรรม ธรรมะระดับต่างๆ ที่เราท่านทั้งหลายเข้าถึงจึงเป็นที่พึ่งทางใจ เป็นกรอบในการดำเนินชีวิต การเป็นนักบวชของฆราวาสจึงมิใช่เรื่องยาก(หากใจพร้อม) แม้จะไม่ได้ปลงผม แต่ก็ได้นุ่งขาวห่มขาวปฏิบัติเจริญภาวนาตลอดสามเดือน หรือปฏิบัติถือศีลอุโบสถตลอดหนึ่งวันหนึ่งคืน   ทำให้นึกถึงประโยคที่พระผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง ที่เราเคารพท่านมาก  ท่านได้กล่าวให้โอวาสในงานปฏิบัติธรรม มีอยู่ประโยคหนึ่งว่า "พระสงฆ์ อุบาสก อุบาสิกา ต่างเป็นเนื้อนาบุญให้ซึ่งกันและกัน"

                  วันที่ 30 กันยายน 2563  เช้าวันนั้นหลังจากทำวัตรสวดมนต์แล้ว  ได้ขับรถไฟฟ้าเลาะรอบวัด ดูบรรยากาศความเป็นอยู่ของชาวบ้านที่อาศัยพื้นดินบริเวณข้างๆวัดทำไร่ทำนา  เห็นโยมสมหมายและภรรยากำลังเก็บถั่วและหาเห็ด  สองสามีภรรยาเกิดศรัทธาจึงได้ถวายถั่วทั้งหมด เห็ดทั้งหมด และน้อยหน่าสุกอีกสามลูก  อาหารเพลวันนั้นจึงเป็นของสมหมายและภรรยา สาธุ สาธุ สาธุ ความสุขความเจริญที่ปรารถนาจงเป็นของสมหมายและครอบครัวด้วยเทอญ

ต้นไม้รอบวัดสมหมายและภรรยาชาวบ้านข้างวัด

                  ย้อนหลังไปก่อนมาจำพรรษาที่วัดป่าดงยางแห่งนี้  ทุกๆปีเมื่อออกพรรษาแล้ว การออกเดินทางจาริกก็จะเริ่มขึ้นอีกครั้ง  รอนแรมไปตามที่ต่างๆ ที่ปรารถนา  ศึกษาชีวิตจากประสบการณ์เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เมื่อใกล้จะถึงฤดูเข้าพรรษาค่อยคิดพิจารณาอีกทีว่า "พรรษานี้เราจะจำพรรษาที่ใดหนอ" และย้อนหลังไปเมื่อแปดปีที่ผ่านมา ความรู้สึกนึกคิดเช่นนั้นไม่มีอีกเลย  วัดป่าแห่งนี้เป็นเสมือนบ้าน เมื่อโอกาสเปิดให้เราได้ไปทำหน้าที่ ที่ต่างๆ เสร็จหน้าที่นั้นๆเรามีที่กลับแล้ว  จึงตั้งชื่อวัดป่าแห่งนี้ว่า "อนุสาวรีย์คนเป็น" ขอบคุณทุกๆดวงจิตที่ช่วยประคับประคองให้วัดป่าแห่งนี้ตั้งอยู่ และสามารถดำเนินชีวิตไปได้

 
บันทึกในไดอารี่